ทะเลกลืน "หาดพัทยา" 50 ปี หาย 50 ไร่ นำร่องเสริมทราย

สิ่งแวดล้อม
16 ส.ค. 61
17:27
15,329
Logo Thai PBS
ทะเลกลืน "หาดพัทยา" 50 ปี หาย 50 ไร่ นำร่องเสริมทราย
กรมเจ้าท่า เสริมทรายหาดพัทยานำร่องที่แรกของประเทศไทย หลังหาดพัทยาถูกกัดเซาะรุนแรง 50 ปี พื้นที่หายไป 50 ไร่ โดยเฉพาะช่วงน้ำขึ้นหาดทรายถูกทะเลกลืนจนหมด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในจังหวัดและประเทศ

วันนี้ (15 ส.ค.2561) สถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย มูลนิธินภามิตร จัดงานเสวนาสาธารณะ TGWA ครั้งที่ 10 หัวข้อ "ฟื้นฟูเสริมทรายแห่งแรกของไทย : พัทยาอัญมณีแห่งตะวันออก" โดย นายสมหวัง จิตต์สาครสิริ หัวหน้าฝ่ายสำรวจทางวิศวกรรม กรมเจ้าท่า ระบุว่า ปัญหาหาดทรายพัทยาถูกกัดเซาะ มีมานานหลายสิบปี กรมเจ้าท่าจึงต้องการปรับตามโครงการฟื้นฟูหาดท่องเที่ยว โดยการเสริมทรายด้วยวิธีการพ่นทรายจากแหล่งทรายบริเวณทิศตะวันตกของเกาะรางเกวียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ด้วยทราย จำนวน 360,000 ลบ.ม. เพื่อเสริมหาดให้มีความกว้างลึกลงจากทะเล 35 เมตร ระยะทางจากพัทยาเหนือถึงพัทยาใต้ ยาว 2.8 กิโลเมตร โดยกำหนดงบประมาณ 429,054,242 บาท


ทั้งนี้ ผู้รับเหมาดำเนินการด้านเอกสารเพื่อส่งให้กรมเจ้าท่าอนุมัติการการเปลี่ยนแปลงสัญญาแล้วเสร็จ ทางผู้รับเหมาก็จะเริ่มดำเนินการเสริมทรายตั้งแต่เดือน เม.ย. โดยจะมีการดำเนินการเป็นช่วงๆ ช่วงละ 300 เมตร ขณะนี้สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ 732 เมตร หรือ ร้อยละ 25.85 แล้ว คาดจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน พ.ย.ปีนี้


ขณะที่นายบัลลังก์  เมี่ยงบัว วิศวกรโยธาชำนาญการ กรมเจ้าท่า ระบุว่า ปัญหาการกัดเซาะชายหาดพัทยารุนแรงมาก เมื่อน้ำขึ้นไม่เหลือพื้นที่ชายหาดเลย จึงเลือกชายหาดพัทยานำร่องในการเสริมทรายชายหาด เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยผลตอบแทนที่ลงทุนไป 1 บาท จะได้ค่าตอบแทนกลับมาถึง 40 บาท 

ค่อนข้างมั่นใจว่าจะแก้ไขปัญหาการกัดเซาะได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด เรียกว่า รูปแบบซอฟต์ โซลูชัน คือแทบไม่ส่งผลกระทบต่อชายหาดข้างเคียงเลย และได้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว มั่นใจว่าไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนหาดและใต้ทะเลแน่นอน

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าได้วางแผนงานการเสริมทรายไว้หลายแห่ง โดยหาดสมิหลา จ.สงขลา ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ขณะที่หาดจอมเทียน จ.ชลบุรี กำลังทำการศึกษาอยู่ และอาจจะขยายไปยังชายหาดชะอำ หาดบางแสน รวมถึงหาด จ.พังงาด้วย

กว่า 50 ปี หาดพัทยาจมทะเลกว่า 50 ไร่


ขณะที่นายสุพจน์ จารุลักขณา วิศวกรชายฝั่ง ระบุว่า จากการศึกษาปัญหาการเกาะเซาะชายฝั่งโดยเฉพาะหาดพัทยามีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษา GIS และ ข้อมูลระยะไกล (RS) พบว่า

  • พ.ศ.2495 มีพื้นที่หาด 96,128 ตร.ม. หรือ 60 ไร่ กว้างเฉลี่ย 35.6 เมตร
  • พ.ศ.2510 มีพื้นที่หาด 55,818 ตร.ม. หรือ 34 ไร่ กว้างเฉลี่ย 20.6 เมตร
  • พ.ศ.2517 มีพื้นที่หาด 49,919 ตร.ม. หรือ 31 ไร่ กว้างเฉลี่ย 18.5 เมตร
  • พ.ศ.2539 มีพื้นที่หาด 81,778 ตร.ม. หรือ 51 ไร่ กว้างเฉลี่ย 30.3 เมตร
  • พ.ศ.2545 มีพื้นที่หาด 50,500 ตร.ม. หรือ 31.5 ไร่ กว้างเฉลี่ย 18.7 เมตร
  • พ.ศ.2554 มีพื้นที่หาด 13,500 ตร.ม. หรือ 8.5 ไร่ กว้างเฉลี่ย 3.5 เมตร

การเสริมทรายจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้หาดพัทยากลับมาสวยงามดังเดิม ซึ่งก่อนดำเนินโครงการ ได้มีการศึกษาความเข้ากันได้ของเม็ดทราย โดยการเก็บตัวอย่างทรายจากทั้งบนหาดและใต้ทะเลหลายแห่ง เพื่อเปรียบเทียบขนาด สี และความเข้ากันได้ จนพบแหล่งทรายในทะเลบริเวณทิศตะวันตกของเกาะรางเกวียน ซึ่งทรายมีความสมดุลและเหมาะสม


อีกทั้ง แหล่งทรายห่างจากหาดพัทยา เพียง 20 กิโลเมตร และมีปริมาณทรายกว่า 3 ล้าน ลบ.ม. จึงทำการขุดบ่อทรายเพื่อดูดทรายในความลึก 27-30 เมตร เป็นระดับความลึกที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่แล้วลำเลียงโดยใช้เรือที่สามารถขนทรายได้ 2,300 ลบ.ม.ต่อเที่ยว ก่อนจะขนย้ายไปบนหาดพัทยาด้วยวิธีการต่อท่อลำเลียงแล้วพ่นทรายไปบนชายหาด ซึ่งเป็นวิธีดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ทำร้ายสัตว์บนชายหาดด้วย

แม้การเสริมทรายจะช่วยให้หาดพัทยากลับมาสวยงามดังเดิมแต่ยังมีข้อจำกัดอยู่ นายสุพจน์ ระบุว่า เมื่อเติมทราย 20 เมตร ความกว้างหาดทั้งหมด 35 เมตร
เวลาผ่านไป 1 ปี ชายหาดจะถูกกัดเซาะ 10 เมตร ชายหาดคงเหลือ 10 เมตร ความกว้างหาดทั้งหมดจะเหลือเพียง 25 เมตร

เมื่อผ่านไป 2 ปี ชายหาดจะถูกกัดเซาะ 11 เมตร ชายหาดคงเหลือ 9 เมตร ความกว้างหาดทั้งหมดจะเหลือ 24 เมตร

และเมื่อผ่านไป 3 ปี ชายหาดจะถูกกัดเซาะ 12 เมตร ชายหาดคงเหลือ 8 เมตร ความกว้างหาดทั้งหมดจะเหลือเพียง 23 เมตร เท่านั้น

 

เมื่อเสริมทรายไปช่วงแรก ทรายมันจะหายไปครึ่งหนึ่ง เพราะธรรมชาติต้องมีการปรับสภาพ ในทุกๆ 4-5 ปี จึงต้องเติมทรายเพิ่ม เพื่อไม่ให้ชายฝั่งถูกกัดเซาะจนเสียหาย เพราะหากปล่อยไว้ระยะยาวน้ำจะขุ่น จนกลายเป็นสีดำ ทำลายระบบนิเวศน์ ไม่เหลือความสวยงาม วิธีนี้ในต่างประเทศก็ใช้กันอย่างแพร่หลาย

แก้ระบายน้ำท่วมกวาดทรายลงทะเล

ด้าน ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย ระบุว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเกิดจากความสมดุลทรายเข้ากับออกไม่เท่ากัน โดยในแต่ละปีมีทรายถูกพัดเข้าฝั่งน้อยกว่าถูกพัดออกทะเลกว่า 10,000 ลบ.ม. เนื่องด้วยลมทะเลที่แรงขึ้นจากภาวะโลกร้อนและสิ่งก่อสร้างบนชายหาด รวมถึงการระบายน้ำจากเหตุอุทกภัยลงทะเลจนพบว่าตั้งแต่ ปี 2535 หาดพัทยาเริ่มมีปัญหา จนถึงปี 2549 ทรายเริ่มหายไปจนเกือบหมด และ

ในปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ หาดพัทยาไม่มีหาดทรายหลงเหลืออยู่เลย เนื่องจากเป็นจุดระบายน้ำท่วมลงทะเลขนาดใหญ่ ชาวบ้านต้องป้องกันตัวเองด้วยการก่อบังเกอร์ขึ้นมา เรือสามารถเข้ามาจอดเทียบท่าได้ถึงฝั่ง ที่เป็นกำแพงปูน นักท่องเที่ยวไม่มีหาดทรายให้เดินลงไปเล่นหรือนอนอาบแดด

กรมเจ้าท่าจึงได้มีแผนฟื้นฟูหาดพัทยาและในอนาคตอาจมีการพัฒนาเป็นแลนด์มาร์ก ด้วยการสร้างรูปปั้นขึ้นมา เพื่อบังทิศทางลมมรสุม ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้คิดค้นระบบป้องกันชายหาดแห้งด้วยวิธีระบายน้ำ เพื่อชะลอการระบายน้ำไม่ให้น้ำล้นลงชายหาดแล้วกวาดทรายลงทะเล 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง