28 ปีสานต่องาน “สืบ” สู่ยุคทองการอนุรักษ์

Logo Thai PBS
28 ปีสานต่องาน “สืบ” สู่ยุคทองการอนุรักษ์
ไทยพีบีเอสออนไลน์พูดคุยกับ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กับการสานต่อเจตนารมณ์ “สืบ” บุคลากรคนสำคัญที่จากไป และดึงผู้คนให้กลับมาสนใจงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอีกครั้ง

การดำเนินงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ช่วง 10 ปีหลัง เป็นการเดินหน้าสร้างพื้นที่รูปธรรม คือป่าตะวันตก ที่สืบเคยนำเสนอเรื่องการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แหล่งมรดกโลกของไทย และมีแผนต่างๆ มากมาย

 

ศศิน เฉลิมลาภ

ศศิน เฉลิมลาภ

ศศิน เฉลิมลาภ

 

“คุณสืบพูดว่า ถ้าจะรักษาป่าห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่ ต้องรักษาป่าตะวันตก” 10 ปีต่อมามูลนิธิฯ จึงมีโครงการจัดการป่าตะวันตก เริ่มตั้งแต่การเก็บข้อมูลจนกระทั่งพบปัญหาที่แท้จริง ซึ่งไม่เคยมีใครพูดถึง คือการลดลงของป่าอนุรักษ์จากการขยายตัวจากชุมชนดั่งเดิมที่ป่าอนุรักษ์ไปครอบไว้ รวมทั้งวิถีวัฒนธรรมเปลี่ยนไปจากการหากินในป่า ล่าสัตว์ ตัดไม้ ขายของป่า เป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ส่งผลให้ป่าอนุรักษ์ลดลง

 

อนุรักษ์ก็ผิดที่ไปครอบเขาไว้ ไม่มีข้อตกลงจะให้เขาอยู่แบบปกติสุข การแก้ปัญหาก็เถียงกันว่า จะย้ายเขาออก เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันการเข้าไปควบคุมเขาก็ไม่ได้ดี ไม่ได้เข้าไปอย่างการมีส่วนร่วม แต่สร้างความขัดแย้งตลอดเวลา เพราะคิดว่าเขาเป็นคนผิดกฎหมาย ต้องเอาเขาออก

 

ขอบคุณภาพ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ขอบคุณภาพ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ขอบคุณภาพ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

เดินหน้าสร้าง “วิถีชีวิตเป็นมิตรผืนป่า”

ศศิน สะท้อนว่า การทำงานที่ล่าช้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังมติ ครม.ปี 2541 “ให้คนอยู่กับป่า” ส่งผลให้ประชากรและผู้อพยพเข้าไปอยู่ในพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำข้อมูลล่าช้าเป็น 10 ปี กระทั่งมูลนิธิลงพื้นที่และทราบปัญหา พร้อมเสนอโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงการสำรวจแนวเขต โดยเป็นแนวเขตที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หัวหน้าอุทยาน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ นำไปสู่การอยู่ร่วมกัน เมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้วทางมูลนิธิฯ จึงได้นำเสนอแนวคิดต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้คนที่อยู่ในป่าสร้างเป้าหมาย “วิถีชีวิตเป็นมิตรผืนป่า”

 

ไม่ต้องรอการพิสูจน์สิทธิ์ว่า ใครผิดใครถูก แต่อุทยานฯ ต้องไปทำงานร่วมกับเขาแบบสมัยใหม่ ให้เขาอยู่ที่นี่ แบบมีข้อตกลง กติกา ไม่ได้อยู่ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่เกี่ยวแล้ว มันอยู่ที่การจัดการร่วมกัน

 

ขอบคุณภาพ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ขอบคุณภาพ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ขอบคุณภาพ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

วิถีชีวิตเป็นมิตรผืนป่าเริ่มจากกลุ่มคนเล็กๆ เช่น โครงการปลูกสมุนไพรอินทรีย์ ทำการตลาดร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ต้องการรักษาป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยรับซื้อสมุนไพรจากป่าตะวันตก แม้ค่าใช้จ่ายจะสูง แต่มีเงื่อนไขการงดใช้สารเคมี ซึ่งช่วง 10 ปีแรกมีคนในหมู่บ้านมาร่วมโครงการไม่ถึงร้อยละ 5 นอกจากนี้ จัดทำโครงการผ้าทอ เพื่อหารายได้เสริม โดยปรับปรุงคุณภาพจนสามารถสร้างตลาดได้ ตั้งเป้าในระยะยาวจะมีสมาชิก ร้อยละ 25 ของคนในชุมชน ซึ่งมูลนิธิสืบฯ จะเดินหน้าโครงการต่อไป เพราะเป็นตัวอย่างในการจัดการป่าอนุรักษ์ของไทย

 

ถ้าคุณจะจัดการพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่ในป่า แนวเขตทำได้แน่นอน แต่จะไปบอกว่าเขาไม่ต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยว อันนี้เรื่องยาก ต้องตั้งหลักกันอย่างยิ่ง อาจเปลี่ยนวิธีให้งบประมาณ เปลี่ยนทัศนคติ หรือเปลี่ยนหน่วยงานที่รับใช้ชอบ อนาคตหากจะดำเนินการต่อ ต้องการเปลี่ยนวิถีชีวิตคนให้มีชีวิตอย่างปกติสุข มีรายได้พอประมาณ มีภูมิคุ้มกันที่จะอยู่กับป่าได้

ชงแผนจัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่


นอกจากนี้มูลนิธิฯ ร่วมกับกรมป่าไม้ จัดตั้งป่าชุมชนรอบพื้นที่อนุรักษ์มากกว่า 100 แห่ง แต่เดิมแทบไม่มีป่าชุมชน ก็ช่วยให้สถานการณ์การจัดตั้งป่าชุมชนของกรมป่าไม้ในภาพรวมของประเทศเปลี่ยนไป เกิดการจัดการทรัพยากรที่ไม่ต้องพึ่งพิงในป่าใหญ่อย่างผิดกฎหมาย มูลนิธิฯ เตรียมเสนอแผนการจัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่กรมอุทยาน กรมป่าไม้ และพื้นที่ชุมชน เพื่อรักษาเป็นพื้นที่รูปธรรมตัวอย่าง เป็นการจัดการร่วมของประเทศไทย

 

เรามองไปที่ 30 ปีมูลนิธิสืบฯ พื้นที่ป่าตะวันตกจะเป็นพื้นที่ในระดับมรดกโลก ให้เป็นตัวอย่างการจัดการที่ดี ป่าชุมชน คน ความรู้ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ในที่สุดกรมอุทยาน จะต้องพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ


เมื่อถามถึงความแตกต่างของการเคลื่อนไหวในรัฐบาลทหารกับรัฐบาลประชาธิปไตยนั้น ศศิน บอกว่า การทำงานของมูลนิธิสืบฯ ไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลแบบใด เพราะผู้ที่เสนอโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อน ถนน คือ หน่วยงานราชการ เช่น กรมชลประทาน กระทรวงคมนาคม หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น กลไกการอนุมัติก็เป็นกลไกเดิม แต่การตัดสินใจจากผู้ที่มีอำนาจก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ทางมูลนิธิฯ เสนอไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ช่วงรัฐบาลทหาร อาจจะต้องคำนึงถึงแนวทางการเคลื่อนไหวมากขึ้น เพราะกังวลกรณีการทำผิดกฎอัยการศึก แต่เอ็นจีโอสายสิ่งแวดล้อม เป็นเอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวตลอดอยู่แล้ว

 

ตอนที่เดินในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็รู้สึกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ ถามว่าทำไมไม่เดินช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเขื่อนไม่ได้จะถูกสร้าง มีเพียงการปล่อยข่าวทางการเมือง

"คนรุ่นใหม่" พลังขับเคลื่อนงานอนุรักษ์

พลังของคนรุ่นใหม่กับงานอนุรักษ์มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมูลนิธิสืบฯ ตั้งหลักมาตั้งแต่ปี 2553 โดยปรับรูปแบบของเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เนื่องจากมีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน ทำให้ไม่ล้าสมัย ส่วนโซเชียล มูฟเม้นท์ที่ชัดเจน เริ่มตั้งแต่ช่วงที่เดินคัดค้านอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ ส่งผลให้ผู้ติดตามเฟซบุ๊กของมูลนิธิฯ เริ่มขยายวงกว้างและเปลี่ยนกลุ่มหลักจากคนที่รู้จักสืบ นาคะเสถียร เป็นคนที่เล่นเฟซบุ๊ก

การเคลื่อนก็ปรับเปลี่ยนทั้งโซเซียลมีเดีย และการจัดงานรำลึกสืบ ส่วนกรณียิงเสือดำก็มีคนรุ่นใหม่สนใจและติดตามพอสมควร ซึ่งเพจมูลนิธิสืบฯ เป็นส่วนหนึ่งในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารทางวิชาการ รวมทั้งถอดบทเรียน แต่ไม่ได้เป็นเพจด่า หวือหวา หรือเรียกดราม่า

 

ขอบคุณภาพ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ขอบคุณภาพ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ขอบคุณภาพ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

สานต่ออุดมการณ์ "สืบ" สู่ยุคทองงานอนุรักษ์


ในวาระ 28 ปี การจากไปของสืบ นาคะเสถียร การเปลี่ยนแปลงมาถึงจุดสำคัญ ไม่ใช่เพียงมูลนิธิฯ แต่เป็นองค์รวมของการอนุรักษ์ โดยเฉพาะภาคส่วนราชการ นักวนศาสตร์ หรือป่าไม้ รุ่นที่ได้รับอิทธิพลจากการเสียชีวิตของสืบ หรือทำงานใกล้ชิดสืบ ขึ้นมามีบทบาทในการบริหารงานมากขึ้น เช่น นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า พันธุ์พืช เป็นคนหนุ่มที่ทำงานในป่าช่วงนั้น และอาจได้รับอุดมคติ หรืออุดมการณ์ เชื่อว่างานอนุรักษ์จะชัดเจนขึ้นช่วง 1-2 ปี

 

ผ่านมา 20 ปี คนที่เข้ามาบริหารงานเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ จะเห็นงานสำคัญช่วง 1-2 ปี ทิศทางของกระทรวงฯ เริ่มเข้าที่เข้าทาง เห็นรูปธรรมของการแก้ปัญหา งานที่องค์กรอนุรักษ์เสนอเข้าไปก็ถูกหยิบมาพูดคุย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง