เตือน 40 จังหวัดฝนตกหนักอิทธิพล “มังคุด” 17-19 ก.ย.นี้

ภัยพิบัติ
15 ก.ย. 61
13:36
6,795
Logo Thai PBS
เตือน 40 จังหวัดฝนตกหนักอิทธิพล “มังคุด” 17-19 ก.ย.นี้
สทนช.เตือน 40 จังหวัดเฝ้าระวังอิทธิพลจากพายุ "มังคุด" ทำให้เกิดฝนตกหนักช่วงวันที่ 17-19 ก.ย.นี้ โดยเฉพาะลุ่มน้ำปราจีนบุรี นครนายกและบางปะกง

วันนี้ (15 ก.ย.2561) นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศว่า พายุไต้ฝุ่น "มังคุด" กำลังเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ และลงสู่ทะเลจีนใต้ จากนั้นผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน เข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 16-18 ก.ย.2561 และอ่อนกำลังลง ส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้พื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักบางพื้นที่

 

ส่วนในช่วงวันที่ 17-19 ก.ย.2561 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออก จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและดินโคลนถล่ม

สำหรับสถานการณ์ฝนวันนี้ คาดว่ามีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก 40 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ ขอนแก่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรสาคร นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล

ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำ ขณะนี้ยังสามารถรองรับปริมาณฝนได้ บางพื้นที่ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งเล็กน้อย แต่มีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลง ซึ่งคงต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด โดยเฉพาะจากอิทธิพลของไต้ฝุ่นมังคุดที่อาจส่งผลกระทบในภาคตะวันออก บริเวณลุ่มน้ำปราจีนบุรี นครนายกและบางปะกง โดยคาดว่าในช่วงวันที่ 17-19 ก.ย.นี้ จะมีฝนตกมากขึ้น ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้การระบายลงแม่น้ำบางปะกงออกสู่ทะเลจะทำได้ยากขึ้น จึงต้องเร่งระบายน้ำเพื่อรองรับน้ำก้อนใหม่

ขณะเดียวกัน สทนช.ได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยทำการผันน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วและควบคุมการระบายน้ำในระดับที่เหมาะและไม่ส่งผลกระทบ พร้อมติดตามสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลหลากลงไปสมทบกับปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง