"ดีเอสไอ" ส่งสำนวนคดีเหมืองทอง ให้ ป.ป.ช.

สิ่งแวดล้อม
4 ต.ค. 61
07:18
1,115
Logo Thai PBS
"ดีเอสไอ" ส่งสำนวนคดีเหมืองทอง ให้ ป.ป.ช.
ดีเอสไอ ส่งสำนวนเหมืองทองคำ จ.พิจิตร ให้ ป.ป.ช.แล้ว เหตุพบ จนท.รัฐ พัวพันจำนวนมาก ด้านกลุ่มประชาสังคมฯ หวั่นหลังเลือกตั้งปีหน้า กลุ่มทุนใหญ่- พรรคการเมือง ลุยเดินหน้านโยบายเหมืองทองคำต่อ

วานนี้ ( 3 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ นำโดยนางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ และ น.ส.อารมณ์ คำจริง พร้อมตัวแทนชาวบ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ ประมาณ 30 คน เดินทางมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอติดตามข้อกล่าวหาที่ชัดเจนที่ทางดีเอสไอได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ประกอบการคดีเหมืองแร่ทองคำเมื่อ วันที่ 28 ส.ค.61

น.ส.อารมณ์ กล่าวว่า ทางกลุ่มภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นผู้ยื่นหนังสือให้ดีเอสไอเริ่มตรวจสอบการประกอบกิจการว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเห็นว่าข่าวที่ดีเอสไอชี้แจงก่อนหน้านี้ยังมีประเด็นคลุมเครือ เพราะการยื่นร้องเรียนให้ตรวจสอบว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ มี 9 ประเด็น ได้แก่ การทำเหมืองแร่สาธารณะที่ไม่ได้ขอประทานบัตร เช่น ทางสาธารณะ, การย้ายบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 2,การประกอบโรงงานประกอบโลหะกรรม,การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน,การเปลี่ยนผังโครงการทำเหมืองแร่,การเป็นนอมินีต่างชาติในการถือครองที่ดินและทำเหมืองแร่,การหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัท รวมถึงบุคคลเกี่ยวข้อง และการฟอกเงินในการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ และการฉ้อโกงต่อสถาบันการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ทางกลุ่มเครือข่ายต้องการความชัดเจน หลังจากดีเอสไอตรวจสอบมา 4 ปี และ แจ้งข้อกล่าวหาไปเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ไม่ชัดเจนว่า มีประเด็นใดกันแน่" น.ส.อารมณ์ กล่าว

หลังจากนั้นเวลา 12.40 น.นายพิเชฎฐ์ ทองศรีนุ่น หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีเหมืองแร่ทองคำ ดีเอสไอ ได้มารับหนังสือ และให้ตัวแทนกลุ่มภาคประชาสังคม จำนวน 5 คน เพื่อรับฟังการชี้แจง และหลังจากเข้าพบพนักงานสอบสวนประมาณ 40 นาที นางวันเพ็ญ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าการตรวจสอบคดีเหมืองแร่ทองคำขณะนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ โดยสำนวนแรกเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ดีเอสไอสอบสวน และส่งต่อให้สำนักงาน ป.ป.ช.แล้วเมื่อวันที่ 28 ก.ย.61 สำนวนที่ 2 ไม่ใช่กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมส่งต่อให้อัยการพิจารณา และกลุ่มสุดท้าย เป็นประเด็นเกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ คณะกรรมการดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ พิจารณาแยกออกจากคดีประกอบกิจการ

นางวันเพ็ญ กล่าวด้วยว่า การตรวจสอบของทั้งดีเอสไอ และ ป.ป.ช. ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปแม้เคยยื่นให้ตรวจสอบไปแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งจะเดินทางไปที่ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สั่งการดีเอสไอ และ ป.ป.ช. เร่งสรุปคดีเหมืองแร่ทองคำให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง ปี 2562

"หวั่นใจว่า เส้นทางการสอบวนหากยื้อไปถึงหลังเลือกตั้งจะมีผลต่อเจ้าหน้าที่เพราะอย่าลืมว่า ในช่วงรัฐบาลปกติก่อนหน้านี้ บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในช่วงประกอบกิจการ ต่างเป็นรัฐมนตรี ที่อยู่ในพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นที่ชัดเจนว่าผู้อนุมัติวนเวียนกลับมาอยู่ในสนามการเมืองทั้งหมด และอาจทำให้แทรกแซงการทำหน้าที่ของทั้ง ดีเอสไอ และ ป.ป.ช. ได้ " นางวันเพ็ญ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวของหน่วยงานรัฐ พยายามขอคืนที่ดินจากชาวบ้านใน จ.พิจิตร,จ.เพชรบูรณ์,จ.พิษณุโลก,จ.สระบุรี และ จ.ลพบุรี ที่ขยายพื้นที่เป็นวงกว้างในปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยมีคำขออาชญาบัตร เพื่อสำรวจขยายพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งกรณีนี้ ชาวบ้านต่างหวั่นวิตกว่า จะส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง