ก.เกษตรฯ บีบสหกรณ์เพิ่มโควต้าปลูกข้าวโพด

เศรษฐกิจ
18 ต.ค. 61
19:04
4,991
Logo Thai PBS
ก.เกษตรฯ บีบสหกรณ์เพิ่มโควต้าปลูกข้าวโพด

โครงการปลูกข้าวโพดหลังนาป้องกันปัญหาน้ำแล้ง ทำต่อเนื่องจากปีก่อน มีรายงานว่าบางจังหวัดชาวนาให้ความสนใจน้อยลง กระทรวงเกษตรจึงเร่งให้ได้ตามเป้า 2 ล้านไร่ ในพื้นที่ 33 จังหวัด และหันไปใช้สหกรณ์เกษตรช่วยเร่งโครงการคล้ายกับให้สหกรณ์ดึงสมาชิกเข้าโครงการให้ทุนกับสหกรณ์ตั้งเป็นตัวกลางรับซื้อวางเเผนการผลิตไปจนถึงส่งขายให้กับบริษัท

วันนี้ (18 ต.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โดยมีตัวแทนสหกรณ์ 250 แห่งในพื้นที่ 33 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า สหกรณ์การเกษตรจะทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิต จัดหาเมล็ดพันธ์เครื่องจักร และรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรสมาชิก เพื่อส่งขายให้กับผู้ประกอบการ โดยประสานกับเอกชนทำสัญญาการซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า กำหนดราคาเพื่อสร้างความมั่นใจว่าผลผลิตที่เกษตรกรปลูกจะมีตลาดรับซื้อและราคาที่แน่นอน พร้อมระบุว่าโครงการนี้เป็นไปตามนโนบายของรัฐซึ่งข้าวโพดกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด

ขณะที่ นายวิเชียร วงษ์คำ รอง ผจก.สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จ.พิษณุโลก หนึ่งในพื้นที่นำร่องของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ประสานความร่วมมือกับบริษัทซีพีและแปซิฟิค ซึ่งทั้ง 2 บริษัทขายเมล็ดพันธุ์และพร้อมรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรต้นทุนปลูกข้าวโพดต่อไร่อยู่ที่ 3,200 บาท ซึ่งผู้ปลูกขายข้าวโพดสดได้อย่างน้อย 5 บาทต่อกิโลกรัม

วันพรุ่งนี้ (19 ต.ค.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะหารือร่วมกับผู้ประกอบการ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ 16 ราย และสมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ถึงราคาที่จะรับซื้อคุณภาพและจุดรับซื้อ ที่ที่อย่างน้อยจะต้องมีอำเภอละ 1 จุด เป้าหมายโครงการปลูกข้าวโพดหลังทำนามีประมาณ 2,800,000 ไร่

ล่าสุดมีเกษตรกรที่ต้องการร่วมโครงการเเล้ว 800,000 ราย โดยจะเริ่มเพาะปลูกเดือน พ.ย.นี้ ทั้งนี้ รัฐบาลมีแนวทางสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรเเละสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้เกษตรกรกู้ยืม อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นค่าปัจจัยการผลิตและเตรียมแปลง ไร่ละ 2,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ รวมทั้งสนับสนุนเบี้ยประกันภัย 65 บาทต่อไร่ เมื่อเสียหายเกษตรกรจะได้เงินชดเชยไร่ละ 1,500 บาท เมื่อได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติจะได้รับเงินชดเชยไร่ละ 1,500 บาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง