ทำได้ไหม? ร้านสะดวกซื้อขายอาหารตามสั่ง 24 ชั่วโมง

เศรษฐกิจ
5 พ.ย. 61
18:25
3,921
Logo Thai PBS
ทำได้ไหม? ร้านสะดวกซื้อขายอาหารตามสั่ง 24 ชั่วโมง
ร้านสะดวกซื้อเปิดขายอาหารตามสั่ง 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมการค้าภายใน ชี้ในแง่การประกอบธุรกิจต้องอยู่ภายใต้ความเป็นธรรม หรือทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นเดือดร้อนไม่เอาเปรียบ หากมีผู้ร้องเรียนต้องมีการพิจารณาตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า

วันนี้ (5 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนึ่งในธุรกิจแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ เปิดให้บริการที่มากกว่าร้านสะดวกซื้อทั่วไป เพราะทำการตลาดตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่อย่างครอบคลุม ทั้งร้านขายยา ซื้อ พ.ร.บ. และ ต่อทะเบียนรถ ซักอบรีด ถ่ายเอกสาร ปริ๊นท์รูปภาพ ร้านกาแฟสด อาหารตามสั่งปรุงสด ตั้งเเต่เมนูข้าวหน้าต่างๆ โจ๊ก ข้าวต้ม รวมถึงอาหารรับประทานเล่น จำพวกของทอดและของหวาน พร้อมเก้าอี้ให้นั่งรับประทานในร้าน ซึ่งหลายสาขาตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ขณะที่บางสาขาขายโทรศัพท์มือถือด้วย 


กลยุทธ์ทางการตลาดนี้ ส่งผลกระทบต่อร้านค้าโชห่วยซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงกับร้านสะดวกซื้อ รวมถึงร้านอาหารตามสั่ง หาบเร่ แผงลอย สาขาธนาคาร ก็ต่างได้รับผลกระทบจากการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่

ส่วนเคาเตอร์เซอร์วิสในร้านสะดวกซื้อแห่งนี้ ทุกสาขาสามารถทำธุรกรรมทางการเงินและภาษี ทั้งฝากเงินแทนธนาคารออมสินได้ และกำลังเจรจากับอีกหลายธนาคาร นอกจากนี้ยังมี 3 สาขา เป็นตัวเเทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT refund สำหรับนักท่องเที่ยว ขณะที่ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมายังมีการเปิดบริการเดลิเวอรี่ พร้อมรับส่งพัสดุด่วน 24 ชั่วโมง ซึ่งเริ่มให้บริการในพื้นที่ 4 จังหวัด กว่า 3,700 สาขา


ด้าน น.ส.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ มองว่า การขายอาหารตามสั่งปรุงสดในร้านสะดวกซื้อ ไม่เข้าข่ายพฤติกรรมผูกขาด หรือขัดกับกฎหมายแข่งขันทางการค้า เพราะธุรกิจขายอาหาร เป็นธุรกิจที่มีความเสรี การแข่งขันที่หลากหลายและทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ระบุว่า กรณีที่ร้านสะดวกซื้อมีแผนจะเปิดขายอาหารตามสั่งตลอด 24 ชั่วโมง ในแง่ของการประกอบธุรกิจสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบ และไม่ใช้อำนาจเหนือตลาด โดยจะต้องพิจารณาจาก 2 มาตรา ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า 2560 คือ มาตรา 50 ว่าด้วยการกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรม การตั้งราคาเพื่อกำจัดคู่แข่ง และมาตรา 57 ว่าด้วยการกีดกันทางการค้า การปฎิบัติทางการค้าไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นเดือดร้อน หากมีผู้ร้องและพิจารณาตามนี้แล้ว เข้าข่ายมาตราใดมาตราหนึ่งถือว่ามีความผิด


สำหรับกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 5 ต.ค. 2560 เพื่อกำกับดูแลป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ จนก่อให้เกิดการผูกขาด และการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องการควบรวมหรือกินรวบธุรกิจ ทั้งนี้ การประกอบธุรกิจใดๆ ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงจริยธรรมด้วย

ส่วนโทษของกฎหมายฉบับใหม่ถือว่ามีความรุนแรงโดย หากพบว่ามีความผิด ตามมาตรา 50 โทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด ส่วนโทษทางปกครองกรณีไม่หยุดพฤติกรรมมีโทษปรับ 6 ล้านบาท และปรับวันละ 3 แสนบาท 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง