เส้นทาง ม. 44 แก้ปัญหามหาวิทยาลัย

สังคม
9 พ.ย. 61
15:47
852
Logo Thai PBS
เส้นทาง ม. 44 แก้ปัญหามหาวิทยาลัย
นับแต่ปี 2559 รัฐบาลใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหามหาวิทยาลัยต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาทุจริตและแต่งตั้งผู้บริหารไม่ชอบธรรม ซึ่งเป็นต้นทางสู่การป้องกันการทุจริตในแวดวงการศึกษาอื่นๆ ด้วย

หลังการรัฐประหารปี 2557 หมุดหมายการปฏิรูปหนึ่งคือ การปฏิรูปการศึกษา ทว่าเรื่องนี้กลับถูกเชื่อมโยงกับเรื่องธรรมาภิบาลของคนในแวดวงการศึกษาด้วย อนึ่งปัญหาที่หนักหนาในช่วงนั้นคือคดีความของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ยังอยู่ในระบบที่มีการฟ้องร้องคดี ทั้งการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญโดยมิชอบ หรือพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริต

คำสั่งแรก ที่ชื่อและเนื้อหาระบุตรงไป-ตรงมา ถึงปัญหาธรรมาภิบาลในแวดวงการศึกษา คือคำสั่ง คสช. ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา โดยเนื้อหาในหัวคำสั่งระบุปัญหาชัดเจนว่ามีการใช้ “หลักสูตรที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ผลิตบัณฑิตที่มีปัญหาด้านคุณภาพ”

และช่วงหนึ่งคือ “สภาสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งอาศัยอำนาจและช่องว่างทางกฎหมายดำเนินการในลักษณะที่ส่อเจตนาแสวงหาประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป มีการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม”

อ่านเพิ่ม คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 39/2559

สาระสำคัญมี 2 ประเด็น คือ 1.กำหนดการดำรงตำแหน่งของนายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสถาบันอุดมศึกษาจะนั่งเกิน 3 แห่งในเวลาเดียวกันไม่ได้ เป็นต้น (ข้อ 3 คำสั่งหัวหน้า คสช. 39/2559)

และ 2. การเปิดโอกาสให้คณะกรรมการอุดมศึกษา (กกอ.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าไปจัดการมหาวิทยาลัยที่จัดหลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัยประวิงเวลาปฏิบัติงาน หรือมหาวิทยาลัยที่มีความขัดแข้ภายใน

 

เสียงวิจารณ์จากคำสั่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางสนับสนุนที่มีการจัดการปัญหาภายในมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยที่ส่อทุจริตหรือมีปัญหาแต่งตั้งอธิการบดีไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะให้อำนาจ “กกอ.” เข้ากำกับดูแล ซึ่งลักษณะคล้ายกับสาระสำคัญที่ถูกผลักในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาด้วย

ช่วงปี 2559 ยังพบว่ารัฐบาลต้องใช้มาตรา 44 หลายครั้งในการแก้ปัญหาระดับมหาวิทยาลัย เช่น การสั่งพักงานรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และการสั่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ หยุดปฏิบัติหน้าที่

ลำดับเหตุการณ์ข้างต้นจะเห็นปัญหาหนึ่งระหว่างสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการใช้อำนาจสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง “อธิการบดี” ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้เกิดปัญหาฟ้องร้องมากมายและยังมีปัญหาทับซ้อนกับการที่อธิการบดี หรือรักษาการอธิการบดีหลายแห่งของรัฐ มีอายุเกิน 60 ปี หรือเกษียณราชการแล้ว ซึ่งเป็นอีกประเด็นถกเถียงใน 2 ด้านคือ ด้านหนึ่งหากมองในแง่ความอาวุโส มีประสบการณ์ ก็เหมาะสมที่จะอยู่ในตำแหน่ง ไม่เกี่ยวกับอายุ แต่อีกด้านหนึ่งก็มองถึงความสัมพันธ์ระหว่างสภามหาวิยาลัยและตำแหน่งผู้บริหาร ที่มีบางกรณี เช่น พ้นวาระอธิการบดี วนไปเป็นรองอธิการบดี หรือนายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย เมื่อครบเวลาก็วนกับมาตำแหน่งเดิม จนกลายเป็นวาทกรรม “สภาเกาหลัง”

 

ปี 2560 คสช.ออกคำสั่ง คสช. ที่ 37/2560 แก้ไขปัญหาสถาบันอุดมศึกษาอีกครั้ง สาระสำคัญคือ คนนอกเข้าเป็นอธิการบดีได้ และคนอายุเกิน 60 ปีเป็นอธิการบดีได้ เพราะขณะนั้นมีมหาวิทยาลัยรัฐหลายแห่งที่เกิดปัญหาสูญญากาศในการแต่งตั้งอธิการบดี และรักษาการอธิการบดี จึงต้องออกคำสั่งนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหา แต่ก็กลับมาที่ประเด็นเหรียญ 2 ด้าน คือ หากคนแก่-แต่เก่งและดี คำสั่งนี้ก็เป็นคุณ แต่หากเป็นการเปิดช่องให้ “วนตำแหน่ง” ก็กลับสู่วงจร “สภาเกาหลัง”

อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2561 หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยกรณีแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี สั่งเพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยในการแต่งตั้งอธิการบดีที่มีอายุเกิน 60 ปี กลายเป็นปมที่กระทรวงศึกษาธิการต้องกลับมาแก้ปัญหาอีกครั้ง เพราะมีนัยยะขัดกับคำสั่ง คสช.ที่เปิดช่องไว้ ซึ่งแนวโน้มนับจากนี้มี 3 แนวทาง คือ 1.ผลผูกพันเฉพาะกรณี เพราะอธิการบดีดังกล่าวยังไม่ลาออกใช้เป็นเกณฑ์กลางไม่ได้ 2.ไม่ผูกพันมหาวิทยาลัยนอกระบบ และ 3.ให้แต่ละสภามหาวิทยาลัยแก้ไขปัญหาเอง

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยราชภัฏที่อธิการบดีอายุเกิน 60 ปี มีจำนวน 22 แห่ง จากทั้งหมด 23 แห่ง ซึ่งมีอธิการบดีราชภัฏสุราษฎร์ธานีเท่านั้นที่ลาออกจากตำแหน่ง

ไล่เรียงปัญหาและวิธีการในการแก้ปัญหา กรณี ป.ป.ช.ออกประกาศให้นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ นับเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น อย่างน้อยที่สุดก็จะได้เห็นทรัพย์สินเข้า-ออก บัญชีของบุคคลเหล่านี้ที่มีอำนาจ “เหนือ” ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและอาจกลายเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยเปิดรายละเอียดการดำเนินการต่างๆ ให้เกิดความโปร่งใส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง