ตีแผ่เบื้องหลัง "เด็กตีกัน"

สังคม
23 พ.ย. 61
17:42
2,716
Logo Thai PBS
ตีแผ่เบื้องหลัง "เด็กตีกัน"
เปิดงานวิจัยอาชญาวิทยา ชี้ต้นเหตุเด็กตีกัน เพราะมีองค์กรศิษย์เก่าบงการ คัดเลือกรุ่นน้องเข้าบ่มเพาะความเกลียดชังนำไปสู่การล้างแค้นต่างสถาบัน ระบุการปิดสถาบันคู่กรณีไม่ใช่ทางออก

ปัญหานักศึกษาในสถาบันอาชีวะก่อเหตุวิวาท หรือ “เด็กตีกัน” เป็นปัญหาซ้ำซากและเกิดซ้ำ แม้ช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. จะเพิ่มมาตรการทั้งการป้องกัน และดำเนินการกับเด็กที่ก่อเหตุอย่างเด็ดขาด แต่ก็ไม่สามารถยุติปัญหานี้ได้

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.ต.พงษ์สันต์ คงศรีแก้ว อาจารย์พิเศษคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เจ้าของผลงานวิจัยเรื่อง "มาตรการควบคุมการก่อความรุนแรงในสถาบันอาชีวศึกษา" เพื่อวิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหาและแนวทางแก้ไข

 

มีเงื่อนงำที่มากกว่าปัญหาเด็กตีกันหรือไม่ ?

อดีตเราคิดว่าปัญหาเด็กตีกันเกิดจากความหุนหันพลันแล่นของเด็ก หรือปัญหาครอบครัวของเด็ก แต่นั่นเป็นเรื่องในอดีต สิ่งที่เกิดในปัจจุบัน ซึ่งยกระดับมาในช่วง 80 ปี คือรูปแบบสงครามตัวแทนโดยมีคนอยู่เบื้องหลัง เป็นลักษณะกลุ่มก้อนหรือการจัดองค์กรของสถาบัน

กลุ่มก้อนนี้คือศิษย์เก่าที่เกเร ซึ่งไม่ใช่ศิษย์เก่าทุกคน แต่เป็นคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการคงวัฒนธรรมการต่อสู้ไว้ โดยสร้างวัฒนธรรมเพื่อหล่อหลอมเด็กรุ่นใหม่ที่เข้าสู่สถาบัน

เมื่อเด็กใหม่ๆ เข้ามาก็จะถูกหล่อหลอมตลอด 4 ปีนี้ กลายเป็นกองกำลังส่วนตัวที่จะต้องรบกันหรือต่อสู้แก้แค้น เหมือนกับสงครามชนเผ่า

ความเชื่อที่ทำให้คนสู้กันเพื่อสถาบัน-รุ่นพี่รุ่นน้องคืออะไร?

มาจากจุดเริ่มต้นที่ 2 สถาบัน มีปัญหากันอยู่แล้ว ตั้งแต่การแข่งกีฬาเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว จากนั้นมีการต่อสู้และปลูกฝังความคิดกันมาตลอด ความแค้นของรุ่นพี่และศิษย์เก่าส่งต่อมายังรุ่นน้อง พยายามบอกว่าถูกฝั่งตรงข้ามกระทำจนกลายเป็นความเกลียดชัง

จากนั้นมีระบบโซตัสเข้ามาในช่วงการจัดตั้งกลุ่มกระทิงแดง ที่ต้องการสร้างอาชีวะเป็นกองกำลังเพื่อหวังผลทางการเมือง คนที่เข้าไปสร้างระบบกลายเป็นร้าย เพราะสร้างความเข้มแข็งไว้ แต่เมื่อคนฝึกถอนตัวออกไปรุ่นพี่ก็เข้าไปครอบครองกองกำลังนี้ และถูกนำไปใช้ประโยชน์ตามคำสั่ง

 

วิธีการสั่งสอน-บ่มเพาะ มีขั้นตอนอย่างไร ?

เริ่มจากการรับน้องที่นำน้องไปฝึกวินัย ถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษรุนแรง ซึ่งขั้นตอนนี้มีการแตะเนื้อต้องตัวด้วย ทั้งที่การฝึกทหาร-ตำรวจ ยังไม่ขนาดนี้  ช่วงการฝึกจะพบนักศึกษาที่ทนไม่ได้ลาออกจำนวนมาก บางสถาบันลาออก 50-60 เปอร์เซ็นต์ เพราะทนไม่ได้ ตอนแรกอาจจะคิดว่าไม่มีอะไร แต่กลายเป็นว่าโดนหนัก และยังไม่นับรวมถึงเรื่องยาเสพติด และการพนันที่ทำให้เด็กหลายคนตัดสินใจออกไป

ความรักสถาบันกลายเป็นการล้างแค้นคนอื่นได้อย่างไร ?

มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงค่านิยม สมมติเป็นบันได 3 ขั้น ขั้นที่ 1 นักศึกษาที่เข้าไปใหม่ๆ จะถูกปลูกฝังให้รักสถาบัน สอนให้เป็นพี่น้องกันต้องเกื้อกูลกัน สิ่งนี้เป็นเรื่องดี แต่พอเข้าขั้นที่ 2 วัฒนธรรมเริ่มเบี่ยงเบน เช่น คุณเจอศัตรูต้องเล่นงานก่อนไม่อย่างนั้นมันจะเล่นงานเรา และพวกเราต้องพกอาวุธไม่อย่างนั้นจะถูกเชือด เริ่มเพี้ยน!

ขั้นที่ 3 คือสุดโต่ง ถ้าคนในสถาบันถูกกระทำ ต้องไปล้างแค้นกับใครก็ได้ เช่น ไปยิงเด็กผู้หญิงที่ป้ายรถเมล์ ถ้ายิงโดนแล้วตายจนทำให้ฝ่ายตรงข้ามเจ็บใจ ก็ถือว่าฝ่ายเราชนะ ดังนั้นวิธีคิดนี้ทำให้สังคมไทยหลุดโลกควบคุมไม่ได้ จากการสร้างกองกำลังกลายเป็นการฆ่าคน ซึ่งมีทั้งการวางแผนและวิธีสะกดรอยแบบนักฆ่า

กลายเป็นอาชญากร ไม่ใช่เด็กแบบเดิมแล้ว จริงๆ ไม่ใช่เรื่องเด็กแล้วแต่เป็นเรื่องผู้ใหญ่สอน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่มีวิวัฒนาการมานานแล้วด้วย

กรณีล่าสุด มีองค์กรที่ปลูกฝังความเชื่อและฝึกซ้อมคนมานาน ?

มีมานานแล้ว องค์กรมีทั้งโอเพ่นออฟฟิศและแบล็กออฟฟิศ ส่วนที่เป็นโอเพ่นออฟฟิศจะเห็นว่ามีรุ่นพี่ที่เกเรและมีความห้าวหาญผิดๆ ออกไปคัดเลือกนักศึกษา โดยจะเลือกคนที่ห้าวหาญในแบบผิดๆ

ปัจจุบันยังไม่มีใครเห็นภาพนี้ เพราะยังมองว่าเด็กตีกันด้วยความวู่วาม แต่ผลจากการศึกษาจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเด็ก ซึ่งเด็กปี 1 เป็นเหมือนเหยื่อมากกว่า เพราะถูกฝึกอบรมให้ไปแก้แค้น ทั้งที่คนควรรับผิดชอบคือคนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นกลุ่มอาชญากรและอาจเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ในสถาบันด้วย (ข้อมูลไม่สามารถเปิดเผยได้)

ช่วยฉายภาพให้ชัดเจนเกี่ยวกับการบ่มเพาะเด็กตั้งแต่ปี 1 ?

เริ่มตั้งแต่การรับน้อง รุ่นพี่ที่ออกไปคัดเด็กเกเรมา จะมีกระบวนการรับน้อง-ฝึกน้องในต่างจังหวัด แม้ว่าสถาบันห้าม ก็แอบไปและสั่งห้ามน้องพูด จากนั้นจะสอนให้เด็กตระหนักว่ามีอันตรายตลอดเวลา เช่น อาจจะถูกยิงหรือแทงนอกสถาบัน ดังนั้นต้องเตรียมตัวและเชื่อฟังรุ่นพี่ เช่น นั่งรถเมล์กลับบ้าน พี่ต้องนั่งคุม ซึ่งเมื่ออยู่ในสถาบันนานๆ ก็จะอบรมกล่อมเกลาผ่านประเพณีและวันสำคัญ เช่น ต้องออกไปล้างแค้นหรือล่าแต้มเพื่อให้ศัตรูเจ็บใจ

การแก้ไขของรัฐบาล เช่น ใครตีสั่งปิดสถาบัน ไม่ช่วยอะไร ?

มีผลบ้าง แต่ในอดีตคนไม่คิดแบบนี้ เพราะภาครัฐไม่รู้ว่ามีองค์กรอาชญากรรมอยู่เบื้องหลัง เขาคิดว่าเป็นปัญหาเด็กตีกัน คือบังคับเด็กจับมือกัน หรือเอาเด็กไปเข้าค่ายทหาร ซึ่งจะไม่มีผลหรือถ้ามีก็เป็นผลระยะสั้น เนื่องจากปัญหามีความต่อเนื่องและไม่ได้ขึ้นอยู่กับเด็กรุ่นนี้เท่านั้น เพราะยังมีองค์กรที่อยู่เบื้องหลังคอยผลิตความคิดที่รุนแรงอยู่

ถ้าแก้ไขต้องแก้ที่ค่านิยม ไม่ใช่แก้ไขด้วยการปิดสถาบัน เปลี่ยนเครื่องแบบ หรืออะไรที่ว่า แต่ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่หมด

ทั้งนี้ค่านิยมของสถาบันลักษณะนี้เหมือนกับศาสนาหนึ่ง ที่เข้าไปแล้วจะไม่คิดเหมือนเดิมอีกเลย เพราะอาจจะเชื่อมั่นในการแก้แค้น การล้างแค้น หรือสร้างความเจ็บแค้นฝั่งตรงข้าม ดังนั้นเรื่องนี้จึงมี 2 ส่วน คือ 1.ที่ไหนตีกันต้องใช้กฎหมาย เช่น สายตรวจหรือติดตั้งระบบความปลอดภัยเพื่อยับยั้งเบื้องต้น แต่วิธีนี้จะหยุดเรื่องร้ายๆได้ไม่เกิน 3 ปี แล้วปัญหาจะกลับมาใหม่ เพราะคนพร้อมที่จะก่อเหตุอยู่แล้ว หากมีเหตุตีกันวงจรการแก้เค้นก็จะกลับมาทันที กระทั่งพัฒนาถึงขั้นสูงสุดที่เหมือนกับ “มือปืนรับจ้าง” เพราะมีการสะกดรอยไปถึงบ้านในต่างจังหวัดเพื่อตามไปยิงเหมือนมือปืนรับจ้าง

ภาครัฐ-ตำรวจรู้ถึงปมปัญหาหรือไม่ ทำไมยังเกิดซ้ำ ?

เดิมไม่มีใครศึกษาเรื่องนี้ ตำรวจก็มีภาพแบบหนึ่ง คนที่เข้าใจดีคืออาจารย์ในสถาบัน รองลงมาคือศิษย์เก่า ส่วนผู้บริหารการศึกษาก็จะคิดอีกแบบหนึ่ง คือมองว่าเด็กน่าสงสาร แต่ส่วนตัวมองอีกมุมหนึ่ง โดยมองถึงเด็กที่ต้องออกกลางคัน และเด็กปี 1 ที่ต้องเป็นเหยื่อและถูกล้างสมองอีกไม่รู้กี่รุ่น ทางแก้ที่ดีที่สุดคือจัดการกับแก๊งอาชญากรและเปลี่ยนค่านิยม

เด็กตีกันไม่ได้เกิดจากตัวเด็ก หรือการศึกษา ไม่เกี่ยวกันเลย แต่มาจากระบบคิด ใครก็ตามมาอยู่ตรงนี้ต้องคิดแบบนี้

ใช้กฎหมายแก้ได้จริงหรือ เพราะองค์กรอยู่เบื้องหลังไม่เกี่ยวโดยตรง ?


กฎหมายมีอยู่แล้ว ตำรวจต้องสอบสวนไปให้ถึง เดิมไม่เคยคิดว่ามีแก๊งอาชญากรรมจึงไม่เคยสาวไปจนถึงตัวบงการ แต่เมื่อทราบแล้วก็ควรดำเนินการ และเชื่อมโยงไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ควรดึงคนเข้ามาทำงานนิคมในเมืองแล้วทิ้งคนไว้ข้างหลัง-ทิ้งเด็กให้ว้าเหว่ เพราะเด็กกลุ่มนี้กลายเป็นเด็กที่พร้อมจะรับคำสั่ง และอยากจะเข้าโรงเรียนแบบนี้ และมีแนวโน้มอยากจะไปตีกับเขา

 

 

สถาบันกลายเป็นที่หมายของคนที่ใช้ความรุนแรง ?

ประมาณนั้นครับ เพราะสถาบันได้ยกระดับและผลิตคนไปทั่วประเทศ ที่สำคัญคือการผลิตวัฒนธรรม “หยิ่งในศักดิ์ศรี” ที่กระจายไปยังสถาบันอื่นในต่างจังหวัด ซึ่งพบว่าสถาบันใหญ่ลักษณะนี้ตีกันทั่วประเทศ จนทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรม เพราะขาดแรงงานที่มีทักษะสูงจากสถาบัน และสถาบันถูกมองในภาพลบจนไม่มีคนอยากเรียน

ทุกจังหวัดที่มีสถาบันใหญ่ๆ จับคู่ตีกันหมดเลย แม้ไม่มีการเก็บข้อมูลจากหน่วยงานราชการ แต่ถ้าศึกษาจากเอกสาร และข่าวหนังสือพิมพ์ทั่วไปจะเห็นว่ามีแทบทุกจังหวัด จับคู่ตีกันเป็น 10 ปีมาแล้ว

ขณะที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร จะมีคดีทะเลาวิวาทของนักศึกษาอาชีวะ ประมาณ 1,500-2,000 ครั้งต่อปี สูงกว่าคดีปล้นทรัพย์ 10 เท่า ซึ่งเท่ากับว่ามีเหตุทะเลาะกันเกือบทุกวันเพราะกรุงเทพฯ มีสถาบันลักษณะนี้จำนวนมาก

บทสรุปการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว ?

1.การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เน้นใช้ระบบสายตรวจควบคุมสภาบันที่มีปัญหา สถาบันเองก็ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัย เช่น กล้องวงจรปิดและระบบแสกนนิ้วมือ ซึ่งมีโรงเรียนต้นแบบทำแล้ว 2.ควบคุมระบบคิด เอาระบบคิดแบบเก่าออกไป และจะทำอย่างไรไม่ให้รุ่นพี่-ศิษย์เก่ามีความคิดรุนแรง ไม่ให้สั่งสอนรุ่นน้องต่อ เพราะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจะทำให้เรื่องเงียบชั่วขณะ เมื่อมีชนวนเล็กน้อยก็จะเริ่มวงจรล้างแค้นใหม่ เพราะทุกคนพร้อมจะเป็นนักรบ

คีย์เวิร์ดที่พบ คือเรายอมให้ศิษย์เก่าและรุ่นพี่ใช้ระบบปกครองแบบอำนาจนิยม ถ้าเป็นระบบประชาธิปไตยรุ่นน้องมีสิทธิมีเสียงก็จะดีขึ้น 

3.เปลี่ยนค่านิยมใหม่ให้สถาบันเป็นที่ที่คนอยากเรียนและผลิตคนมีทักษะเข้าสู่อุตสาหกรรม เปลี่ยนเครื่องมือการสอน และเอาค่านิยมเดิม ซึ่งเป็นเทวนิยมหรือการบูชาออกไป แล้วใส่วิชาที่เป็นเหตุผลเข้าแทน รวมถึงเปลี่ยนพระสงฆ์เข้ามาในสภาสถาบันศึกษา แล้วเอาศิษย์เก่า-นักรบ ที่มีแนวคิดว่าทำร้ายคนอื่นเป็นแล้วเป็นเรื่องถูกออกไป 

วิธีการส่วนหนึ่งทำมาแล้วยังเกิดปัญหาซ้ำ ข้อเสนอให้ปิดสถาบัน ?

ผมเห็นแรงเชียร์จากสังคมว่าให้ปิด แต่ปิดแล้วเปิดใหม่ไหมล่ะ ? เพราะหากปิดแล้วมีผลกระทบ ส่วนตัวมองในแง่ดี คือปรับภาพลักษณ์ 2 สถาบัน เอาส่วนหัวที่เป็นผู้นำออกไป ส่วนนักศึกษารุ่นพี่ ต้องหยุดกล่อมเกลาในทางที่ผิด และตัดขาดผู้สั่งการจากภายนอกที่เป็นศิษย์เก่าเกเร จากนั้นจึงนำศิษย์เก่าที่ดีเข้ามาช่วยพัฒนา พร้อมสร้างแรงจูงใจในการเรียนสายอาชีวะที่มีคุณภาพทั้งการงานและรายได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง