ผลสำรวจชี้ เด็ก 15-19 ปี เกิด "โรคไบโพลาร์" ครั้งแรกบ่อยที่สุด

สังคม
27 พ.ย. 61
17:20
4,068
Logo Thai PBS
ผลสำรวจชี้ เด็ก 15-19 ปี เกิด "โรคไบโพลาร์" ครั้งแรกบ่อยที่สุด
จิตแพทย์ ยังไม่ฟันธงค่ายธรรมะเป็นต้นเหตุเด็กเกิดโรคไบโพลาร์ แต่คาดจะเพิ่มความเสี่ยงกับเด็กที่มีอาการของโรคนี้ แนะผู้ปกครองติดตามพฤติกรรมใกล้ชิด ขณะที่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันกลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-19 ปีเกิด "โรคไบโพลาร์" ครั้งแรกบ่อยที่สุด

วันนี้ (27 พ.ย.2561) จากกรณีกระทู้ออนไลน์เล่าประสบการณ์ค่ายธรรมะในโรงเรียน เมื่อ 4 ปีก่อน กดดันจนเพื่อนต้องดรอปเรียนและเข้าพบจิตแพทย์ ด้านผู้ปกครองเด็กยืนยันต้องรักษาโรคไบโพลาร์และต้องรับประทานยาตลอด เนื่องจากหวั่นอาการกำเริบ

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์เกี่ยวกับกรณีนี้ว่า ค่ายธรรมะของโรงเรียนต่างๆ อาจมีวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกัน โดยในกรณีนี้แพทย์เองยังไม่ทราบรายละเอียดของกิจกรรมที่แน่ชัดจึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าเด็กเกิดโรคทางอารมณ์จากกิจกรรมค่ายธรรมะนี้หรือไม่

เด็กอาจมีอาการของโรคมาแล้วก่อนหน้านี้ หรือมีความเสี่ยงอยู่แล้ว เมื่อต้องเผชิญกับความเครียดทั้งจากการลงโทษหรือแม้แต่การเปิดคลิปวิดีโอที่มีความรุนแรงก็อาจส่งผลให้เกิดโรคทางอารมณ์ได้

นพ.วรตม์ ยังระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กโดยเฉพาะเด็กชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีความเข้มแข็งของจิตใจไม่เท่าผู้ใหญ่นั้น ไม่สามารถกำจัดความกลัวออกไปได้เหมือนผู้ใหญ่ในกรณีที่พบเจอกับความรุนแรงต่างๆ ดังนั้น ผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยติดตามอาการของบุตรหลาน เริ่มต้นด้วยการสังเกตพฤติกรรมทางอารมณ์ อย่างในกรณีโรคไบโพลาร์นี้ เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งผู้ป่วยจะมีขั้วสนุกสนาน ร่าเริงผิดปกติ และมีขั้วซึมเศร้า เสียใจ จนถึงการแสดงอาการทำร้ายตัวเองและต้องการฆ่าตัวตาย ซึ่งผู้ป่วยจะแสดงอาการเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง 

นพ.วรตม์ ยังเสนอว่า ผู้ปกครองควรพูดคุยกับบุตรหลาน และพาไปพบจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือโทรศัพท์ไปที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อขอคำปรึกษาหรือหาแนวทางแก้ไข

ประชากรป่วยไพโบลาร์สูงถึงร้อยละ 1.5-5

ขณะที่เว็บไซต์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ไว้ว่า เป็นความผิดปกติทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมา ระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) สลับกับช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania) โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลาย ๆ เดือนก็ได้

สำหรับสถิติโดยรวมที่สำรวจในประชากรทั่วไป พบว่า มีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ได้สูงถึงร้อยละ 1.5 -5 ซึ่งอัตราการเกิดโรคครั้งแรกพบบ่อยที่สุดที่ช่วงอายุ 15-19 ปี รองลงมา คือ อายุ 20-24 ปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี
นอกจากนี้ไบโพลาร์ยังถือเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคในระยะยาวเรื้อรัง และเป็นโรคที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง ประมาณร้อยละ 70-90

เช็ก! อาการอารมณ์สองขั้ว

สำหรับอารมณ์ซึมเศร้า (Major Depressive Episode) ผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้ นาน 2 สัปดาห์ 

  1. มีอารมณ์ซึมเศร้าเป็นส่วนใหญ่ของวัน หรือร้องไห้แทบทุกวัน โดยในเด็กและวัยรุ่นเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้
  2. ความสนใจหรือความสุขใจในกิจกรรมต่างๆ ทั้งหมดหรือแทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก เป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน 
  3. น้ำหนักลดลงโดยไม่ได้เป็นจากการคุมอาหาร หรือเพิ่มขึ้นอย่างมีความสำคัญ (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารแทบทุกวัน โดยในเด็ก ต้องพิจารณาว่าน้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นตามที่ควรจะเป็นหรือไม่
  4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากไปแทบทุกวัน
  5. กระสับกระส่าย หรือเชื่องข้าแทบทุกวัน 
  6. อ่อนเพลีย หรือไร้เรี่ยวแรงแทบทุกวัน
  7. รู้สึกตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดอย่างไม่เหมาะสมหรือมากเกินควรแทบทุกวัน
  8. สมาธิหรือความสามารถในการคิดอ่านลดลง หรือตัดสินใจอะไรไม่ได้ แทบทุกวัน 
  9. คิดอยากตายอยู่เรื่อยๆ โดยมิได้วางแผนแน่นอน หรือพยายามฆ่าตัวตายหรือมีแผนในการฆ่าตัวตายไว้แน่นอน

ขณะที่อาการช่วงอารมณ์ดีมากกว่าปกติ (Manic Episode) โดยจะมีช่วงที่มีอารมณ์คึกคัก แสดงความรู้สึกโดยไม่รั้ง หรืออารมณ์หงุดหงิดที่ผิดปกติและคงอยู่ตลอดอย่างชัดเจนนานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ สำหรับในช่วงที่มีความผิดปกติด้านอารมณ์นี้ พบมีอาการดังต่อไปนี้อยู่ตลอด อย่างน้อย 3 อาการ และอาการเหล่านี้รุนแรงอย่างมีความสำคัญ

  1. มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมาก หรือมีความคิดว่าตนยิ่งใหญ่ มีความสามารถ
  2. ความต้องการนอนลดลง (เช่น ได้นอนแค่ 3 ชั่วโมงก็รู้สึกว่าเพียงพอแล้ว)
  3. พูดคุยมากกว่าปกติ หรือต้องการพูดอย่างไม่หยุด
  4. ความคิดแล่น คิดมากหลายเรื่องพร้อมๆ กัน หรือผู้ป่วยรู้สึกว่าความคิดแล่นเร็ว
  5. วอกแวก (ได้แก่ ถูกดึงความสนใจได้ง่าย แม้สิ่งเร้าภายนอกจะไม่สำคัญหรือไม่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่สนใจอยู่ในขณะนั้น)
  6. มีกิจกรรมซึ่งมีจุดหมาย เพิ่มขึ้นมาก หรือ กระสับกระส่ายมาก
  7. หมกมุ่นอย่างมากกับกิจกรรมที่ทำให้เพลิดเพลินแต่มีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากตามมา (เช่น ใช้จ่ายอย่างไม่ยับยั้ง ไม่ยับยั้งใจเรื่องเพศ หรือลงทุนทำธุรกิจอย่างโง่เขลา)

ทั้งนี้ ความผิดปกติด้านอารมณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงจนทำให้มีความบกพร่องอย่างมากในด้านการงาน หรือกิจกรรมทางสังคมตามปกติ หรือสัมพันธภาพกับผู้อื่น หรือทำให้ต้องอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีอาการโรคจิต

ส่วนอาการช่วงอารมณ์ดีมากกว่าปกติ (Hypomanic Episode) มีช่วงที่มีอารมณ์คึกคัก แสดงความรู้สึกโดยไม่รั้ง หรืออารมณ์หงุดหงิดที่ผิดปกติและคงอยู่ตลอดอย่างชัดเจนนานอย่างน้อย 4 วัน โดยเห็นชัดว่าต่างจากช่วงอารมณ์ปกติที่ไม่ซึมเศร้า โดยในช่วงที่มีความผิดปกติด้านอารมณ์นี้ พบมีอาการดังต่อไปนี้อยู่ตลอด อย่างน้อย 3 อาการ และอาการเหล่านี้รุนแรงอย่างมีความสำคัญ

  1. มีความเชื่อมั่นตัวเองเพิ่มขึ้นมาก หรือมีความคิดว่าตนยิ่งใหญ่ มีความสามารถ 
  2. ความต้องการนอนลดลง (เช่น ได้นอนแค่ 3 ชั่วโมงก็รู้สึกว่าเพียงพอแล้ว)
  3. พูดคุยมากกว่าปกติ หรือต้องการพูดอย่างไม่หยุด
  4. ความคิดแล่น คิดมากหลายเรื่องพร้อมๆ กัน หรือผู้ป่วยรู้สึกว่าความคิดแล่นเร็ว
  5. วอกแวก (ได้แก่ ถูกดึงความสนใจได้ง่าย แม้สิ่งเร้าภายนอกจะไม่สำคัญหรือไม่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่สนใจอยู่ในขณะนั้น)
  6. มีกิจกรรมซึ่งมีจุดหมาย เพิ่มขึ้นมาก หรือกระสับกระส่าย
  7. หมกมุ่นอย่างมากกับกิจกรรมที่ทำให้เพลิดเพลิน แต่มีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากติดตามมา (เช่น ใช้จ่ายไม่ยั้ง ไม่ยับยั้งใจเรื่องเพศ หรือลงทุนทำธุรกิจอย่างโง่เขลา)

สำหรับการวินิจฉัย ไม่มีการตรวจพิเศษเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ ข้อมูลหลักในการวินิจฉัยคือ การซักประวัติอาการ ความเป็นไปของโรค ความเจ็บป่วยทางจิตในญาติ การใช้ยาและสารต่างๆ หรือโรคประจำตัว เนื่องจากยาบางขนานหรือโรคทางร่างกายบางโรคอาจมีอาการทางจิตเหมือนกับโรคอารมณ์สองขั้วได้ แพทย์จะนำข้อมูลที่ได้จากผู้ป่วยและญาติ ร่วมกับการตรวจร่างกายและตรวจสภาพจิตมาประมวลผลเพื่อการวินิจฉัย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

กังขา! ค่ายธรรมะกดดันเด็กจนดรอปเรียน-รักษาอาการทางจิต

“พระพยอม” ชี้ สาเหตุค่ายธรรมะเพี้ยน เหตุพระขาดประสบการณ์

นักวิชาการแนะปรับรูปแบบค่ายธรรมะ ลดแรงกดดันเด็ก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง