ป้าย- ทางพัง-นักบิดย้อนศร "ยอดฮิต"ปัญหาทางเท้าเมืองกรุง

สังคม
28 พ.ย. 61
17:34
714
Logo Thai PBS
ป้าย- ทางพัง-นักบิดย้อนศร "ยอดฮิต"ปัญหาทางเท้าเมืองกรุง
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สำรวจปัญหายอดฮิตที่มักเจอบนทางเท้าในเขต กทม. ทั้งเจอนักซิ่งย้อนศร ทางพังขรุขระ สายไฟรกรุงรังบนทางเท้า ขณะที่นักวิชาการ ชี้ระบบโครงสร้างถนนและผังเมืองยังไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหา ส่งผลรถมอเตอร์ไซค์ฝ่าฝืนไม่กลัวค่าปรับ

วันนี้ (28 พ.ย.2561) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สำรวจเส้นทางระยะสั้น บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต-ขาออก ตั้งแต่บริเวณปากซอยวิภาวดี 41 ไปจนถึงทางกลับรถอนุสรณ์สถาน และวกกลับเข้ามาถนนวิภาวดีขาเข้าจนถึงฐานทัพอากาศ พบปัญหาบนทางเท้าหลายอย่าง เช่น ป้ายโฆษณา และสายไฟห้อยระโยงระยาง โดยเฉพาะหน้าปั้มน้ำมันที่มีป้ายเรียงรายจำนวนมาก จนบัดบังทัศนวิสัยในการใช้รถใช้ถนน

นอกจากนี้ยังพบมีการเตรียมปรับปรุงทางเท้าตลอดแนวทั้งขาออกและขาเข้า โดยนำถุงทรายและอุป กรณ์มาวางไว้เป็นจุดๆ พื้นผิวถนนขรุขระ ไม่เรียบ ปัญหาวินมอเตอร์ไซค์จอดรถบนทางเท้าเป็นจุดๆ 

โดยในระหว่างสำรวจยังพบการขับรถมอเตอร์ไซค์สวนเลน โดยเฉพาะในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 07.00-08.00 น.เนื่องจากถนนเส้นนี้ มีโรงเรียนอยู่ 2-3 แห่ง และพบการขับรถบนทางเท้าเพื่อเลี่ยงรถใหญ่

จากการสอบถามผู้ที่เคยประสบปัญหาในการใช้ทางเท้าพบว่าเคยเจอรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างวิ่งสวนเลนขึ้นมาขับอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงเช้าและช่วงเย็นๆ จนถึงค่ำ และเคยเจอกระเบื้องไม่เสมอกัน โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนทำให้สะดุดเกือบล้ม ทั้งนี้อยากให้คนขับขี่รถบนทางเท้า หรือขับรถย้อนศร ควรจะปฏิบัติตามกฎจราจร เพราะหลายจุดก็มีการทำป้ายเตือนเอาไว้อย่างชัดเจน 

 

นักวิชาการ ชี้กฎหมายมีแต่คนไม่เกรงกลัว

ขณะที่นายณัฐพงศ์ บุญตอบ นักวิจัยอาวุโส  มูลนิธิไทยโรดส์  กล่าวว่า ปัญหารถมอเตอร์ไซค์ฝ่าฝืนขับ รถบนทางเท้า มักพบได้บ่อยในเขตเมือง สาเหตุหลักมาจากการการออกแบบโครงสร้างถนน เส้นทางและวางผังเมืองที่ไม่เชื่อมโยงกัน แม้แต่การใช้พื้นที่ร่วมกันในระหว่างหน่วยงานก็ไม่ได้พูดคุยกัน เช่น ทางเท้าบางแห่งก็จะมีเสาไฟอยู่ตรงกลาง ตู้โทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งแม้จะเริ่มรื้อถอนออกไปบางส่วน แต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ 

นายณัฐพงศ์  กล่าวว่า ปัญหานี้แก้ไขยาก เพราะมาจากปัญหาการวางผังเมือง ไม่ได้มีการควบคุม การแก้ปัญหาที่ผ่านมาเป็นแค่ปลายเหตุ พื้นที่ทางเท้าไม่พอเพียง และมีความปลอดภัย ไม่ถูกนำมาคิดให้ครบวงจร เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนปัญหา และจุดอ่อน เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยว่าจะหาทางออกอย่างไร

มาตรการระยะสั้น กทม.เองก็พยายามแก้ปัญหา โดยมีโครงการตำรวจบังคับใช้กฎหมายมีโครงการจับจริง ปรับจริง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดหรือขับขี่บนทางเท้า แต่ด้วยข้อกำหนดมาตรการที่ออกมาที่ไม่จริงจังจนถึงขนาดที่ว่าจับทุกคนถ้าเจอ ก็พบเพียงแค่สัปดาห์แรกที่เขาเกรงกลัว แต่ที่สุดก็ฝ่าฝืน 

 

ยกต้นแบบถนนญี่ปุ่นแยกชัดถนนคน-รถ 

กฎหมายแรง แต่หน่วยงานที่บังคับ ตำรวจจราจรในพื้นที่ที่เข้มงวดหรือมีเพียงพอที่จะไปนั่งตรวจจับหรือไม่

นักวิชาการ ระบุว่า หากเอาจริงๆ คนขับมอเตอร์ไซค์ ไม่มีทางเลือกในการใช้เส้นทางในจุดใกล้ๆ เช่น จากซอยหนึ่งไปอีกซอยที่ใกล้กันไม่มีทางเลือกถ้าต้องอ้อมไกล ก็ต้องยอมฝ่าฝืนกฎหมาย

ดังนั้นถ้าพิจารณาหลักในการออกแบบพื้นที่ กทม.ถ้าจะทำให้สมดุุล ทำให้ทางเท้า ให้คนเดินอย่างปลอดภัย ต้องแก้ปัญหาระยะยาวเพราะถนนใน กทม.รูปแบบหน้าตา พื้นที่แตกต่างกันในแต่ละถนน และถ้าจะออกแบบต้องออกแบบโครงสร้าง ให้เชื่อมโยงกันระยะยาวก็ทำได้ ส่วนตัวมองภาพจากประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก เพราะออกแบบมาชัดถนนรถวิ่ง ทางเท้าให้คนเดิน และรถจักรยานมีพื้นที่แยกจากกันชัดเจน ของไทยในอนาคตหากระบบโครงข่ายขนส่งมวลชนครบทุกพื้นที่ ก็น่าจะลดปัญหาลงได้

 

 

เช่นเดียวกับ นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI มองว่า ถนนในประเทศไทยไม่ได้ออกแบบมาให้เอื้อกับคนใช้จักรยานยนต์ แต่ในความเป็นจริง คงจะไม่มีถนนเส้นใดที่จะตอบโจทย์ทุกความต้องการของทุกคนได้ ขณะที่การก่อสร้างบนท้องถนนที่ทำให้ผิวจราจรน้อยลงก็ส่งผลต่อทุกคนอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะอ้างข้อบกพร่องจากโครงสร้างอย่างไร ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะรับฟังได้

ทางเท้าถูกออกแบบมาเพื่อให้เดินเป็นหลัก ความเร็วที่แตกต่างจากการเดิน จะทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ทางได้ง่าย นั่นหมายความว่าไม่ใช่แค่การขับขี่บนทางเท้าเท่านั้น ทั้งการวิ่ง หรือ ปั่นจักรยาน ที่แม้จะเป็นความเร็วที่ไม่ได้มาก แต่ก็มากกว่าการเดิน ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อความปลอดภัย


วิธีการแก้ที่ดีที่สุดคือ เจ้าหน้าที่ต้องเอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำผิด เสี่ยงต่อการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่งฟ้องศาล 3 ข้อหาคนขับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้าชน นร.

เขตไหนแชมป์นักซิ่งบนทางเท้า กทม. ?

 

 

 
 
 
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง