ปิดฉากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา

สิ่งแวดล้อม
6 ธ.ค. 61
17:42
4,432
Logo Thai PBS
ปิดฉากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา
สนพ.เปิดประชาพิจารณ์ร่างแผน PDP2018 กำหนดให้ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 2 โรง กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเข้าระบบในปี 2570 และปี 2572 เพื่อความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ แทนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา

วันนี้ (6 ธ.ค.2561) เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน รายงานว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดรับฟังความเห็น “การจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับใหม่ (PDP ฉบับใหม่)” ในพื้นที่ภาคใต้ขึ้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดยตามร่างแผน PDP ฉบับใหม่ หรือ PDP2018 ภาคใต้ ได้กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 2 โรง ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ โดยกำหนดให้สร้างขึ้นในปี 2570 ขนาด 700 เมกะวัตต์ และสร้างอีกโรงในปี 2572 ขนาด 700 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ตามแผน PDP ฉบับใหม่ ยังกำหนดเปิดให้มีการแข่งขันสร้างโรงไฟฟ้า 2 โรง สำหรับเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) และ กฟผ. โดยโรงแรกกำหนดให้แข่งขันเพื่อเข้าระบบในปี 2577 กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งกำหนดประเภทเชื้อเพลิงให้เป็นการแข่งขันสร้างโรงไฟฟ้าประเภทถ่านหิน หากผลการศึกษาของ “คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้” เห็นควรให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ได้ ส่วนโรงที่ 2 จะเปิดให้แข่งขันให้สร้างในปี 2578 ขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ เบื้องต้น เป็นการแข่งขันสร้างโรงไฟฟ้าประเภทก๊าซธรรมชาติ

 

 

ด้านแหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในระยะยาวพื้นที่ภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างน้อย 1 โรง เพื่อเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่ราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าไม่แพง ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่ได้ จึงมีการกำหนดไว้ให้สร้างช่วงปลายแผน PDP ฉบับใหม่

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ได้กำหนดให้กระทรวงพลังงานต้องจัดทำแผน PDP ใหม่อีกครั้งในปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์พลังงานจะเกิดการเปลี่ยนจากการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติและการเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) และอาจทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงต้องปรับแผน PDP ประเทศใหม่อีกครั้ง ดังนั้น การสร้างโรงไฟฟ้าที่กำหนดไว้ในปลายแผนของ PDP ฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

สำหรับการประชาพิจารณ์แผน PDP ฉบับใหม่ ใน จ.สุราษฎร์ธานี ครั้งนี้ ตัวแทนจาก กฟผ.ได้อภิปราย เรียกร้องให้กระทรวงพลังงาน เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.กลับมาอยู่ระดับ 50% ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ จากปัจจุบันที่ลดเหลือเพียงแค่ 37% เท่านั้น ซึ่งการเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวสามารถทำได้ ซึ่งอยู่กับความสามารถของ กฟผ.ในการเข้าไปประมูลแข่งสร้างโรงไฟฟ้ากับผู้ผลิตไฟฟ้า IPP ในอนาคต

แหล่งข่าว กล่าวว่า การเปิดรับฟังความเห็นแผน PDP ฉบับใหม่นี้ ยังเหลือการรับฟังความเห็นอีก 2 ครั้ง ได้แก่ การรับฟังความเห็นของประชาชนในภาคตะวันออก ซึ่งจะจัดขึ้นที่ จ.ชลบุรี เร็วๆ นี้ และครั้งสุดท้ายจะจัดขึ้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ ประมาณกลางเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจะนำแผน PDP ฉบับใหม่ที่เสร็จสมบูรณ์เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเร็วที่สุด ซึ่งฉบับสมบูรณ์จะระบุอัตราค่าไฟฟ้าปลายแผน PDP ไว้ด้วย ซึ่งจะต้องเป็นราคาที่ไม่สูงไปกว่าแผน PDP2015 ฉบับปัจจุบันที่อัตราค่าไฟฟ้าปลายแผนไว้ที่ 5.55 บาทต่อหน่วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง