จากใจ “เด็กดี” ตัวอย่างเยาวชนยุคดิจิทัล

สังคม
11 ม.ค. 62
15:08
986
Logo Thai PBS
จากใจ “เด็กดี” ตัวอย่างเยาวชนยุคดิจิทัล
ท่ามกลางสังคมไทยในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยปัญหามากมาย ทั้งเศรษฐกิจ สังคม แต่ก็ยังมีเยาวชนที่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างให้กับเด็กคนอื่นๆ ไปนำไปเรียนรู้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต

เด็กกิจกรรมช่วยชีวิตชาวจีน

ตัวอย่างของกลุ่มวัยรุ่นที่ช่วยชีวิตชาวจีนรอดจากการคิดสั้น เป็นตัวอย่างเล็กๆ ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน นายสิทธิชาติ มลิวัลย์ หรือ “น้องพัน” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/4 โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ที่ได้ช่วยชีวิตนักท่องเที่ยวชาวจีนที่คิดจะโดดสะพานสาทร

นายสิทธิชาติ เล่าว่า ปกติที่ตนเองและเพื่อน 10 กว่าคน ที่กำลังเล่นดนตรีเพื่อรวบรวมเงินบริจาคเพื่อนำไปทำกิจกรรมงานประกวดดนตรีของทางโรงเรียน “สุทธิ มิวสิค อวอร์ด” (Suthi Music Award) ซึ่งเขา และเพื่อนได้เล่นดนตรีเปิดหมวกมาแล้ว 3-4 ครั้ง และในครั้งนี้ก็เหมือนเช่นปกติ หากแต่พบชายชาวจีน ที่มอบเงินบริจาคจำนวนมาก และหลายครั้งจนผิดสังเกตจึงติดตามและไปพูดคุยและพบว่า ว่าชายชาวจีนมีปัญหาชีวิตและเกลี้ยกล่อมจนสามารถช่วยชีวิตชายชาวจีนได้


เหตุการณ์ช่วยชีวิตครั้งนั้น ช่วยสอนให้รู้คุณค่าของชีวิต คุณค่าของการสื่อสาร การพูดคุย และท่าทางที่จริงใจ ที่สามารถช่วยชีวิตคนได้

นอกจากนี้ ยังช่วยให้นายสิทธิชาติ กลับมาให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาจีน ที่แม้ว่าเราจะเคยเรียนมาตั้งแต่อนุบาล จนถึงชั้น ม.2- ม.3 และห่างไป ในช่วงหลังก็ได้กลับมาทบทวนเพราะเชื่อว่าจะมีประโยชน์อย่างมากในอนาคต

น้องพัน ยังเล่าให้ฟังว่า ความชอบในการพูดคุยกับบุคคลอื่นๆ ที่เด็กทั่วไปมักที่จะประหม่า หรือตื่นเต้น เมื่อต้องพูดคุยกับคนอื่นๆ แต่สำหรับเขา เป็นสิ่งที่ค่อนข้างชื่นชอบ เพราะเป็นคนที่ชอบพูดคุยและมักที่จะให้คำปรึกษาให้กับเพื่อนๆ ทั้งเรื่องเรียน เรื่องเล่น หรือเรื่องๆ อื่น จึงทำให้ค่อนข้างทำได้ดี

รวมถึงเขายังรู้ตัวตนเป็นอย่างดี และวางอนาคตว่า อยากเข้าศึกษาต่อในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อที่จะก้าวไปสู่อาชีพในฝัน คือการเป็น “พิธีกร” รายการโทรทัศน์ที่เชื่อว่าจะสามารถเป็นไปได้ในทุกแนวทั้งวาไรตี้ หรือรูปแบบพูดคุยแบบหนักๆ ก็เชื่อว่าจะสามารถทำได้ และขณะนี้เขายังมุ่งมั่นอ่านหนังสือ เพื่อพยายามสอบเข้าคณะในฝันให้ได้

ลูกกตัญญูช่วยแม่กวาดถนน จ.แพร่

นอกจากการช่วยชีวิตบุคคลอื่น การช่วยเหลือบิดามารดา ก็เป็นแบบอย่างที่เด็กและเยาวชนควรยึดเป็นแบบอย่าง ดังเช่น น.ส.หัศยา ใจคิด หรือ น้ำฟ้า อายุ 27 ปี ที่ใช้ช่วงเวลาหลังปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มาช่วยแม่ ซึ่งเป็นพนักงานกวาดถนน มากวาดถนนที่บ้านเกิด จ.แพร่

เธอบอกว่า เป็นอาชีพที่ทำมาตั้งแต่เป็นเด็ก และทำให้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งทุกครั้งที่หยุด และกลับบ้านใน จ.แพร่ ก็จะไปช่วยแม่คือ นางสุภาภรณ์ ใจคิด กวาดถนนตามชุมชนต่างๆ

เมื่อมีโอกาสกลับบ้านช่วงวันหยุด จึงมาช่วยแม่กวาดถนน และภูมิใจที่ช่วยแม่กวาดถนน เป็นอาชีพที่แม่ส่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ทำให้เข้าเป็นพนักงานบัญชี สหกรณ์ออมทรัพย์ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ด้านนางสุภาภรณ์ บอกว่า หลังเลิกกับสามี ก็ยึดอาชีพกวาดถนนมาตลอด และมีความภาคภูมิใจ สามารถส่งเสียลูกให้เรียนจบ และทุกวันนี้ยังรักในอาชีพนี้ ขณะเดียวกันยังสอนลูก ในเรื่องความเสียสละ และรักในอาชีพที่ตัวเองทำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง