“งดจุดธูป” ไม่กระทบศรัทธา ประชาชนให้ความร่วมมือ หวังลดฝุ่น PM2.5

สิ่งแวดล้อม
22 ม.ค. 62
12:34
2,816
Logo Thai PBS
 “งดจุดธูป” ไม่กระทบศรัทธา ประชาชนให้ความร่วมมือ หวังลดฝุ่น PM2.5
ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นคละคลุ้งทั่วเมืองกรุงฯ หลายที่ขอความร่วมมือประชาชนไม่จุดธูปเทียนบูชาพระหรือเทพเจ้า เผื่อหวังลดปริมาณฝุ่น นักวิชาการเห็นด้วยกับการรณรงค์ ระบุ จะแบ่งเบาปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน ได้ประมาณร้อยละ 5-8

วันนี้ (22 ม.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิร่วมกตัญญู สาขาวัดหัวลำโพง ติดประกาศขอประชาชนที่มาร่วมทำบุญงดจุดธูป เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างดี

น.ส.ภาวดี โกศลวิจิตร เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู สาขาวัดหัวลำโพง กล่าวว่า ปกติต้องใช้ธูป 20 ดอกต่อคน เพื่อบูชาองค์เทพ ขณะนี้ขอความร่วมมืองดจุดธูป แต่ทางมูลนิธิฯ จะจุดธูปใหญ่ไว้ตลอด เพื่อให้ผู้มาร่วมทำบุญตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อหวังช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง

 

นายอภิพัฒน์ เลิศฤทธิ์ศิริกุล ชาวกรุงเทพมหานคร มาทำบุญที่นี่เป็นประจำ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการงดจุดธูป เพราะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละอองขาดเล็ก PM 2.5 ได้ และการไม่จุดธูป ก็ไม่ทำให้ความศรัทธาที่เขามีลดลง

ที่ศาลเจ้าไต้ฮงกง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ประกาศขอความร่วมมือผู้มีจิตศรัทธาในองค์หลวงปู่ไต้ฮง งดจุดธูปเทียนบูชา เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อม

 

 

บริเวณศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ เป็นอีกจุดหนึ่งที่ขอความร่วมมืองดจุดธูปเทียนบูชา น.ส.กนกพร ทิพโยสถ เจ้าหน้าที่มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ เปิดเผยว่า ได้ขอความร่วมมืองดจุดธูปเทียนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 เพราะมองว่าควันธูปนอกจากทำให้เกิดฝุ่นละอองแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย

รศ.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยกับการงดจุดธูปในช่วงนี้ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งจะมีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง คาดว่าหากสามารถลดการจุดธูป จะช่วยแบ่งเบาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐานได้ประมาณร้อยละ 5-8

 

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบว่าการจุดธูปเพียง 3 ดอก ทำให้เกิดสารก่อมะเร็งเทียบเท่ากับการสูดดมควันรถบริเวณที่มีการจราจรคับคั่ง และการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ทำให้เกิดสารก่อมะเร็งเช่นกัน จากวัตถุดิบที่ใช้ผลิต เช่น สี กาว และสารที่ใช้เคลือบเงา

ทั้งนี้ สถิติการเกิดอัคคีภัยในอาคารช่วงเทศกาลตรุษจีน เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2559-2561 พบว่า ช่วงปี 2559 เกิดเพลิงไหม้อาคาร จำนวน 8 ครั้ง ปี 2560 จำนวน 9 ครั้ง เพลิงสงบก่อน 6 ครั้ง และปี 2561 จำนวน 11 ครั้ง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง