"อุบัติเหตุ" ภัยใกล้ตัวคนกรุง

สังคม
25 ม.ค. 62
12:44
628
Logo Thai PBS
"อุบัติเหตุ" ภัยใกล้ตัวคนกรุง
เหตุเครนถล่มระหว่างการก่อสร้างคอนโดมิเนียมย่านพระราม 3 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 3 คน สร้างความวิตกกังวลให้กับชาวกรุงเทพฯ ถึงความปลอดภัยในการใช้ชีวิตและความเสี่ยงอุบัติเหตุ ซึ่งหลายคนก็สะท้อนว่ายังต้องดูแลตัวเองจากความประมาทที่ควบคุมไม่ได้

ไทยพีบีเอส รวมรวบสถิติอุบัติเหตุเครนถล่มใจกลางกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2560-2562 พบว่าพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดเหตุการณ์ใหญ่ถึง 3 ครั้ง คือ

  • เดือน เม.ย.2560 เกิดเหตุเครนถล่มบริเวณโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ย่านดอนเมือง ส่งผลให้คนงานก่อสร้างเสียชีวิต 3 คน
  • วันที่ 30 ส.ค.2561 เกิดเหตุเครนขนาดใหญ่ที่ติดตั้งบนอาคาร 5 ชั้น ในพื้นที่ก่อสร้างย่านพระราม 9 ล้มลงมาทับคนงานเสียชีวิต 1 คน
  • วันที่ 23 ม.ค.2562 เกิดเหตุเครนถล่มย่านพระราม มีผู้เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 3 คน

นอกจากนี้ ช่วงต้นปี 2562 การรื้ออาคารเก่าย่านรามคำแหง 51/1 ซึ่งเป็นอาคาร 4 ชั้น 4 คูหา มีแผ่นปูนถล่มลงมา ทำให้ผู้คนสัญจรผ่านได้รับบาดเจ็บ 2 คน

 

 

 

มานิตย์ สัพพะเลข พนักงานบริษัท บอกว่า ประชาชนไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องสังเกตสิ่งรอบตัว ไม่ใช่ดูแต่หน้าจอมือถือ

ประชาชนส่วนหนึ่งสะท้อนว่า ปัจจุบันนอกจากต้องดูแลตัวเองจากเหตุอาชญากรรมต่าง ๆ ยังต้องเฝ้าระวังเหตุจากสภาพแวดล้อม เช่น อุบัติเหตุจากการก่อสร้าง การชำรุดของถนน แม้กระทั่งการเดินเท้าก็เสี่ยงอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ที่วิ่งบนทางเท้า ท่อระบายน้ำที่ชำรุด บางจุดที่ไม่ได้ปิดฝาท่อ ทำให้คนตกลงไปและได้รับบาดเจ็บ ยกตัวอย่างเมื่อปี 2558 ชายคนหนึ่งได้ประสบอุบัติเหตุตกฝาท่อระบายน้ำบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม ได้รับบาดเจ็บที่ขาและต้องเย็บแผล 100 เข็ม

ชญานิศ บุปผานิโรจน์ นักศึกษา บอกว่า นอกจากอุบัติเหตุจากการก่อสร้างแล้ว ตัวเองต้องระวังเกี่ยวกับทางเท้าชำรุด กระเบื้องไม่เสมอกัน ท่อและหลุมที่เสี่ยงตกลงไปจนบาดเจ็บ

 

 

ขณะที่ เพจ “nuuneoi.com” ได้โพสต์ข้อความและรูปภาพของทางเท้าแห่งหนึ่ง ที่มีผู้นำสีสเปรย์มาฉีดพ่นเป็นสัญลักษณ์กากบาท เตือนคนที่เดินผ่านเส้นทางให้หลีกเลี่ยงแผ่นกระเบื้องบางจุดที่มีน้ำเน่าอยู่ด้านล่าง

ด้านนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา กล่าวว่า เบื้องต้นให้ผู้ที่เสียหายแจ้งความ หากพบว่าอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากความประมาทให้แจ้งความดำเนินคดีอาญาและมีการประเมินค่าเสียหาย แต่หากไม่ใช่ความผิดทางอาญาโดยตรง หรือไม่ต้องรับผิดทางอาญา ก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง