กกต.คาดว่าจัดเวที "ดีเบต" ชัดเจนหลัง 8 ก.พ.นี้

การเมือง
28 ม.ค. 62
17:53
211
Logo Thai PBS
กกต.คาดว่าจัดเวที "ดีเบต" ชัดเจนหลัง 8 ก.พ.นี้
กกต.หารือสถานีวิทยุโทรทัศน์ เกี่ยวกับการจัดสรรเวลาการออกอากาศให้แก่พรรคการเมือง พร้อมระบุยังไม่มีพรรคการเมืองใดแจ้งสมัครเข้าประชันนโยบาย คาดว่าจะมีความชัดเจนหลังวันที่ 8 ก.พ.นี้

วันนี้ (28 ม.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชุมหารือร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกับผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะนำไปพิจารณาดำเนินการการสนับสนุนจัดสรรเวลาการออกอากาศให้แก่พรรคการเมือง โดยเลขาธิการ กกต.เปิดเผยว่า เบื้องต้น ยังไม่มีพรรคการเมืองใดแจ้งการสมัครเข้าประชันนโยบาย ซึ่งจะชัดเจนว่ามีพรรคการเมืองใดบ้างทั้ง 3 กลุ่ม หลังวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 หรือหลังปิดการรับสมัคร ส.ส.

 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา

 

ขณะเดียวกัน กกต.ขอความร่วมมือทุกสถานีโทรทัศน์งดการโฆษณาให้แแก่พรรคการเมือง ล่าสุด มีการร้องเรียนมาว่ามีการโจมตีพรรคการเมือง ซึ่งจะต้องเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัย ทั้งนี้ อ้างอิงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 69 บัญญัติว่า ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ และมาตรา 81 ให้ กกต.มีหน้าที่สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัคร และพรรคการเมือง

 

 

นอกจากนี้ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการสนับสนุนการโฆษณาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2561 กำหนดในเรื่องของการจัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศ สำหรับพรรคการเมือง หรือเวทีดีเบตไว้ 3 กลุ่ม แบ่งตามจำนวนการส่งผู้สมัคร โดยกลุ่มที่ 1 คือกลุ่มพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร 300-350 เขตเลือกตั้ง ส่วนกลุ่มที่ 2 จำนวน 200-299 เขตเลือกตั้ง และกลุ่มที่ 3 คือพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครน้อยกว่า 200 เขตเลือกตั้ง ที่จะให้หัวหน้าพรรค หรือสมาชิก หรือบุคคล ซึ่งพรรคเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ประชันนโยบายบริหารประเทศ

 

 

นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.กล่าวว่า หลังมีพระราชกฤษฎีกา เมื่อมีประกาศระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน ซึ่งจะมีบทลงโทษกำหนดไว้ เช่น ห้ามพิธีกร หรือสื่อมวลชนใช้ความสามารถในวิชาชีพเอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมือง แต่ทั้งนี้มีระเบียบการสนับสนุนพรรคการเมืองของ กกต.ที่ระบุว่าสถานีโทรทัศน์สามารถเชิญพรรคการเมืองออกรายการเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ หรือแสดงนโยบายและความคิดเห็นได้ โดยจะต้องเป็น
ไปตามจริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งสะท้อนข้อยกเว้นที่ให้สื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่ได้

 

แสวง บุญมี

แสวง บุญมี

แสวง บุญมี

 

สำหรับการจัดสรรเวลาการออกอากาศให้พรรคการเมืองประมาณ 10 วัน ระหว่างวันที่ 8-21 มีนาคม ไม่รวมวันหยุดราชการ จัดสรรเวลาระหว่างเวลา 06.00-24.00 น. เฉลี่ยวันละ 60 นาที คาดว่าจะมีพรรคการเมืองร่วม 60 พรรค โดยแบ่งเป็น 5 วันแรก ออกอากาศนโยบายของพรรค พรรคละ 10 นาที และช่วง 5 วันหลังจัดสรรเวลาออกอากาศสำหรับเทปบันทึกการดีเบตที่จัดโดย กกต. ประกบคู่กัน 20 คู่ หรือประมาณ 45 พรรคการเมือง ทั้งนี้ สำหรับสื่อมวลชนทำข่าวและจัดเวทีดีเบตเองได้ ตามระเบียบและกฎหมายกำหนด โดย กกต.ย้ำถึงความเป็นกลางและจริยธรรมสื่อสารมวลชน

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง