คืนมาฆบูชา รอชมดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี

Logo Thai PBS
คืนมาฆบูชา รอชมดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี
สดร.ชวนชม ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2562 หรือ "ซูเปอร์ฟูลมูน" ห่างจากโลก 356,836 กิโลเมตร ในคืนมาฆบูชา 19 ก.พ.นี้

วันนี้ (11 ก.พ.2562) นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า คืนวันที่ 19 ก.พ.นี้ ตรงกับวันมาฆบูชา ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ที่ระยะห่างประมาณ 356,836 กิโลเมตร

หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่า 7% และสว่างกว่า 16% สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 18.11 น. เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถรอชมและเก็บภาพความสวยงามของดวงจันทร์ได้ในคืนดังกล่าว

ภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page

ภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page

ภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page


สำหรับครูและนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ที่มีกล้องโทรทรรศน์ยังสามารถใช้โอกาสนี้จัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียนและชุมชน สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยสนใจศึกษาดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์จากปรากฏการณ์ในครั้งนี้ได้อีกด้วย

นายศุภฤกษ์ ระบุอีกว่า ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น แต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 356,400 กิโลเมตรและตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร

ภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page

ภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page

ภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page


ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก มีผลทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลงมากกว่าปกติเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีผลกระทบอื่นใดต่อโลก นอกจากนี้ การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

แม้ดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือนแต่อาจไม่ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง สำหรับดวงจันทร์เต็มดวงและใกล่้โลกที่สุดในรอบปี ครั้งต่อไป ตรงกับวันที่ 8 เม.ย.2563 ห่างประมาณ 357,022 กิโลเมตร 
ภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page

ภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page

ภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page

 

ทั้งนี้ สดร.จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในวันที่ 19 ก.พ.นี้ ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. ประชาชนที่สนใจร่วมส่องจันทร์ดวงโตชัดเต็มตาด้วยกล้องโทรทรรศน์หลายรูปแบบ และร่วมบันทึกภาพหลุมอุกกาบาตและภูเขาบนดวงจันทร์ 4 แห่ง ได้แก่

1) เชียงใหม่ หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 
2) ฉะเชิงเทรา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
3) นครราชสีมา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา
4) สงขลา ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จ.สงขลา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง