อ่านข่าวช่วงเลือกตั้ง ต้อง เอ๊ะ! ทุกครั้งหลังอ่านจบ ระวังข่าวปลอม

สังคม
13 ก.พ. 62
12:12
1,050
Logo Thai PBS
อ่านข่าวช่วงเลือกตั้ง ต้อง เอ๊ะ! ทุกครั้งหลังอ่านจบ ระวังข่าวปลอม
นักวิชาการสื่อ แนะนำอ่านข่าวในสถานการณ์เลือกตั้งขอให้อ่านแล้วเอ๊ะก่อนเสมอ ว่าข่าวที่เราอ่านนั้นจริงหรือปลอม พร้อมตรวจสอบกับสำนักข่าวหลักว่ามีข่าวนั้นหรือไม่ ข่าวปลอมในช่วงนี้จะพบได้ในรูปแบบใส่สีตีไข่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เราจะยิ่งได้เห็นข่าวปลอมมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะพบข่าวปลอมตลอดในสื่อสังคมออนไลน์ ข่าวปลอมทำมาเพื่ออะไร แล้วคนอ่านจะสังเกตได้อย่างไรว่าข่าวที่อ่านนั้นจริงหรือปลอม อาจารย์มานะให้คำแนะนำไว้ดังนี้

 

Q :ข่าวปลอมคืออะไร

A : ข่าวปลอมคือข่าวที่ไม่เป็นความจริง อาจมีบางส่วนสร้างขึ้นมาใหม่หรือบางส่วนบิดเบือนความจริง คนที่อ่านข่าวเผินๆ อ่านแค่พาดหัวข่าวอาจจะเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องจริง ซึ่งบางเรื่องอาจมีพื้นฐานความจริงแค่ 50 – 60 เปอร์เซ็น ที่เหลืออาจจะปลอมทั้งหมด หรือบางทีอาจจะมีความจริง 80 – 90 เปอร์เซ็น แต่ตัวประเด็นหลัก ๆ ปลอม

Q :เรามักจะเจอข่าวปลอมประเภทไหน - ในช่องทางไหน

A :จริง ๆ เราเจอข่าวปลอมได้ทุกประเภท ทุกช่องทางและทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อดิจิทัล สื่อวิทยุโทรทัศน์ เพียงแต่ว่าเราจะเจอในสื่อออนไลน์มากหน่อย เนื่องจากว่าสื่ออื่น ๆ ที่เรียกว่าสื่อดั้งเดิม ปกติจะมีกองบรรณาธิการทำหน้าที่คัดกรองข้อมูลข่าวสาร

แต่ว่าในโลกออนไลน์หรือโลกไซเบอร์ ใคร ๆ ก็สามารถใส่ข้อมูลข่าวสารเข้าไป และบางคนนอกจากจะทำข่าวปลอม อาจจะทำเป็นแพลตฟอร์มเหมือนสำนักข่าวจริงด้วยซ้ำไป อาจจะล้อเลียนสำนักข่าวจริงหรือเลียนแบบตรง ๆ ไปเลย แต่เนื้อหาข้างในจะเป็นเนื้อหาปลอม เพื่อก่อให้เกิดปัญหาสำหรับผู้ที่เสพข้อมูลข่าวสารอย่างไม่ระมัดระวัง

Q :ข่าวจริง ข่าวปลอม สังเกตได้อย่างไร

A :ให้ลองคลิกเข้าไปอ่านดู เพราะบางทีปลอมมาแค่หน้าเดียว พอคลิกเข้าไป ไปต่อไม่ได้ เพราะว่าเขาเลียนแบบสำนักข่าวบางสำนักข่าวขึ้นมาเฉย ๆ ขณะเดียวกันเราก็ต้องดูในละเอียดว่า ตัวเนื้อหาข่าวมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

หลักการง่าย ๆ คือ เอ๊ะ - อ๋อ เอ๊ะ คือใช่หรือเปล่า ถ้าเกิดมันใช่ อ๋อ มันอาจจะเป็นอย่างนั้นเอง ก็จะทำให้เราตั้งข้อสงสัย

ถ้าเราเริ่มสงสัยว่า เอ๊ะ! มันใช่เหรอ ก็ให้ตรวจสอบกับสำนักข่าวอื่น ๆ ถ้าเป็นข่าวจริง ทุกสำนักข่าวก็จะลงข่าวใกล้เคียงกัน แต่ถ้าเกิดว่าฉบับนี้ ค่ายนี้ หรือข่าวนี้ ที่ออกมาเป็นสำนักข่าวแปลก ๆ หรือโดดออกมาเลย ก็ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่ามันอาจจะไม่จริง และลองตรวจดูว่าสำนักข่าวที่เป็นสำนักข่าวมาตรฐานอื่น ๆ ได้ลงข่าวนี้ไหม ถ้าไม่มีก็คาดได้ว่าอาจจะเป็นข่าวปลอม

Q :ทำข่าวปลอมเพื่ออะไร

A :ข่าวพวกนี้หลาย ๆ ครั้งเกิดขึ้นมาด้วยเจตนาสองสามอย่าง อย่างแรกคือผู้ที่หวังผลทางการเมือง อาจจะต้องการโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งหรือก่อให้เกิดปัญหาเกิดขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือผู้ที่ต้องการให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ อาจจะก่อให้กิดความตื่นตระหนก ส่งผลต่อการค้าการขายของฝ่ายตรงข้าม หรือภาพรวมเศรษฐกิจโดยทั่วไปก็ได้

อีกกลุ่มเรียกกันกว้าง ๆ ว่าเกรียนคีย์บอร์ด คือไม่ได้หวังผลทางการเมือง ทางการเงิน ต้องการสนุกทำไปขำ ๆ เท่านั้นเอง พอจับได้ก็บอกว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ คนกลุ่มนี้ทำโดยไม่คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะมีคนกลุ่มนี้อยู่จำนวนไม่น้อยไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มวัยรุ่นอย่างเดียว บางทีผู้ใหญ่ก็เป็นแบบนั้นด้วย

Q :ข่าวปลอมในสถานการณ์เลือกตั้งมีลักษณะอย่างไร

A : ข่าวปลอมจะมีมากในสถานการณ์ที่อ่อนไหวอย่างการเลือกตั้ง มีการแข่งขันกันสูง หรือสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ ยิ่งในสถานการณ์เลือกตั้ง ข่าวปลอมที่เกิดขึ้นมักจะก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องของนโยบายอะไรที่ชัดเจน อาจจะหยิบมาเรื่องนู้นเรื่องนี้ ประวัติของฝ่ายตรงข้ามของตัวเอง มาใส่สีตีไข่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ดังนั้นผู้ที่เสพข้อมูลข่าวสารก็ต้องระมัดระวัง

Q :คนเชื่อข่าวปลอมสะท้อนอะไร

A :ผมคิดว่าเราเชื่อด้วยหลายอย่าง โดยช่วงของสถานการณ์การเลือกตั้ง เราเชื่อด้วยหนึ่งคือ เรามีความโน้มเอียงทางอคติ อีกส่วนนึงเราไม่ได้ไปตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นว่ามันจริง ไม่จริง ซึ่งตรงนี้มันต้องอาศัยการเรียนรู้และพยายามที่จะศึกษาให้รู้ทันข่าวสารที่เกิดขึ้น วันนี้เราไม่เพียงที่จะต้องรู้เท่าทันสื่อ แต่ต้องรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ บางที่เห็น ๆ อยู่ว่ามันใช่ ปรากฎว่ามันไม่จริงก็ได้

Q :เอกสารปลอมจริงหรือปลอม สังเกตได้อย่างไร

A : อย่างแรกถ้าเอกสารนั้นเป็นเอกสารจริง ทุกสำนักข่าวต้องรายงานตรงกัน ไม่ใช่โดดมาแค่สำนักข่าวเดียว หรือกระจายอยู่แค่ในกรุ๊ปไลน์เฉย ๆ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญพออยู่ในกรุ๊ปไลน์ ก็อย่าไปเชื่อว่ามันเป็นของจริงว่าญาติเราส่งมา คนรู้จักเราส่งมา เพราะคนรู้จักหรือญาติเราที่อยู่ในกรุ๊ปไลน์ ต่างคนต่างรับมา แล้วก็สงต่อโดยไม่มีการตรวจสอบ

เราต้องตรวจสอบจากสำนักข่าวหลักว่าทุกสำนักข่าวหลักนำเสนอข้อมูลข่าวนั้น ๆ หรือไม่ ยิ่งถ้าข่าวนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ทุกสำนักข่าวก็ไม่น่าตกข่าวนี้ อีกส่วนหนึ่งคือดูที่ต้นตอของข่าวสารหรือเอกสารนั้นว่ามาจากที่ไหน

Q :ต้องติดตามข่าวจากสำนักข่าวหลักเท่านั้นหรือไม่

A :ต้องคอยตรวจสอบ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบสำนักข่าวหลักแล้ว ก็อย่าพึ่งเชื่อเลย 100 เปอร์เซ็น หลายครั้งที่สำนักข่าวใหญ่อาจจะพลาด เพราะฉะนั้นตรวจสอบก็ต้องตรวจสอบหลายสำนักข่าวพร้อม ๆ กัน

Q :เคยมีบทเรียนเกี่ยวกับข่าวปลอม ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยบ้างหรือไม่

A :ในประเทศไทยอาจจะยังไม่เห็นชัดนัก แต่ในต่างประเทศมันเคยเกิดขึ้นและมีการฆ่ากันตายเกิดขึ้นในหลายสังคม บางสังคมข่าวลือทำให้มีการดึงคนในชมชุนออกมา เพราะเข้าใจผิดหลายครั้ง เช่น ในอินเดีย มีข่าวลือออกมาในชุมชนหนึ่งว่าจะมีคนแปลกหน้ามาจับเด็กในชุมชนไปขาย วันนั้นพอมีคนแปลกหน้าเข้ามา ก็มีคนเข้าใจว่าคนแปลกหน้านั้น เป็นไปตามข่าวลือว่ามาจับเด็ก จึงเข้าไปทำร้ายถึงแก่ชีวิต ปรากกฏว่าไม่ใช่ มันเป็นข่าวลือที่ปล่อยออกมา

อาจารย์มานะ ทิ้งท้ายว่า ในโลกออนไลน์บางทีอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นจริงก็ได้ หากเราไม่สามารถยืนยันได้ว่าข่าวนั้นจริง 100 เปอร์เซ็น ก็อย่าโพสต์ต่อ อย่ากระจายข่าวลือหรือข่าวที่ผิดพลาดให้กับผู้อื่น

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก กองปราปปราม โพสต์ข้อความเกี่ยวกับบทลงโทษของผู้นำเสนอข้อมูลปลอมและข่าวปลอม โดยระบุว่า มีความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และหากข้อมูลปลอมหรือข่าวปลอม ส่งผลต่อบุคลใดบุคคลหนึ่ง ในลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาท กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่จะเป็นความผิดฐาน ”หมิ่นประมาท” หรือ “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 แทน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง