สะท้อนเสียงชาวนา ต่อ "พ.ร.บ.พันธุ์ข้าว"

เศรษฐกิจ
15 ก.พ. 62
19:36
4,580
Logo Thai PBS
สะท้อนเสียงชาวนา ต่อ "พ.ร.บ.พันธุ์ข้าว"
ไม่ว่าใครที่อยู่ในวงจรผลิต เช่น จะรับจ้างทำนา หรือ ให้บริการเครื่องจักรกล ก็ต้องขึ้นทะเบียน ความยุ่งยากในทางกฎหมายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้มีความกังวลว่า อาจจะพื้นที่ปลูกข้าวก็คงจะลดลงแต่ก็มีชาวนาบางส่วนที่เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.ข้าว ยังมีข้อดี

นาข้าวมากกว่า 400,000 ไร่ ใน จ.ราชบุรี อาจลดน้อยลง หากพระราชบัญญัติข้าวฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เพราะกฎหมายระบุชาวนา ผู้รับจ้างทำนา ผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร หรือแม้แต่ผู้รับจ้างฉีดพ่นปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำนา ต้องยื่นจดทะเบียน ซึ่งชาวนาหลายคนกังวลอาจขาดแคลนแรงงาน

 

 

ส่วนเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่จะนำมาเพาะปลูก ก็ต้องซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่ยื่นจดทะเบียนและผ่านการรับรองตามที่คณะกรรมการข้าวกำหนดเท่านั้น ไม่สามารถนำเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้มาปลูกได้ ซึ่งหากเมล็ดพันธุ์ที่กำหนดให้จำหน่ายมีราคาแพง จะยิ่งเพิ่มต้นทุนให้กับชาวนา

 

 

นายฤกษ์ พรหมดี ชาวนา จ.ราชบุรี กล่าวว่า "ชาวนาน้อย ๆ เขาจะซื้อเอา ชาวนารายใหญ่ก็ซื้อไม่ไหวต้นทุนสูง หากราคาสูง หรือ พันธุ์ข้าวถุงละ 600 บาท ขายได้เกวียนละ 10,000 บาท ก็พอรับได้ แต่ถ้าขายได้แค่ 7,000 บาทก็ไม่ไหว"

ขณะที่นายวลิต เจริญสมบัติ ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตภัณฑ์ข้าวชุมชน กล่าวว่า "จะเกิดกระบวนการทำให้เกิดโซนนิ่งการทำนา ชาวนาภาคกลางก็ผลิตข้าว กข.43 ไม่ต้องแข่งกับชาวนาภาคอีสานที่ผลิตข้าวพันธุ์ลืมผัว ภาคเหนือก็มีข้าวสันป่าตอง ภาคใต้ก็ผลิตข้าวพื้นเมืองอย่างข้าวสังข์หยด ก็จะนำไปสู่การต่อยอดผลิตข้าวสุขภาพ"

ด้านนายประโยชน์ เสลานนท์ ชาวนา จ.ราชบุรี กล่าวว่า "ต้องซื้อพันธุ์จาทางโซนนิ่ง ทางโซนจีไอเขาเลย แล้วเราก็ปลูกมาขยายเอง เพื่อที่จะจำหน่ายแปรรูปเท่านั้น เราไม่อาจขายเป็นพันธุ์ข้าวได้ ซึ่งข้าวที่เป้นจีไอมูลค้าก็จะดีขึ้น

แต่ข้อดีของกฎหมายจะทำให้ข้าวของไทยมีคุณภาพ เพราะสามารถกำหนดพื้นที่สำหรับปลูกข้าวในสายพันธุ์ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดส่งผลให้ราคาข้าวไม่ตกต่ำ

 

 

ข้อดีอีกอย่างหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ คือ การส่งเสริมให้ชาวนารวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน กลายเป็นผู้ผลิต ผู้พัฒนาสายพันธุ์ ผู้รวบรวม ผู้แปรรูปสินค้า และผู้กำหนดราคาจำหน่ายข้าวเอง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง