สนช.ผ่านฉลุย พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ 133 ยกมือหนุน ไร้คนค้าน

สังคม
28 ก.พ. 62
14:02
1,795
Logo Thai PBS
สนช.ผ่านฉลุย พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ 133 ยกมือหนุน ไร้คนค้าน
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

วันนี้ (28 ก.พ.2562) ที่ประชุม สนช.มีมติ 133 เสียง งดออกเสียง 16 เสียง เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยสาระสำคัญ คือ การกำหนดมาตรการป้องกันรับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

สำหรับร่างกฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงยุติธรรม, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 7 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี

ขณะที่มีการกำหนดให้ กมช.สามารถรวบรวมข้อมูล หรือพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ จากการออกคำสั่งโดยคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.)

ในกรณีเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง กำหนดให้อำนาจเลขาธิการคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ หรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง หรือคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ แต่ผู้ครอบครองสถานที่นั้นต้องให้การยินยอม

หากเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ ระดับวิกฤติ ทางเลขาธิการคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มีอำนาจดำเนินการได้ทันทีเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายก่อนล่วงหน้าได้ โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล แต่หลังจากดำเนินการให้แจ้งรายละเอียดต่อศาลให้ทราบโดยเร็ว

161 เสียง ให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ที่ประชุมยังมีมติ 161 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีสาระสำคัญ กำหนดให้การเก็บรวบรวม การใช้การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลอย่างชัดเจน และสามารถถอนความยินยอมภายหลังได้ หรือตามที่เจ้าของข้อมูลขอให้ลบหรือทำลาย ซึ่งหลังจากกฎหมายประกาศใช้ จะมีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นมาชุดหนึ่ง

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ สืบเนื่องจากปัจจุบันมีการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลเป็นจำนวนมาก ที่ทำได้โดยง่ายและรวดเร็ว รวมทั้งสร้างความเดือนร้อน และความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง