กฎหมาย "ปราบทุจริตจัดซื้อ" เปาบุ้นจิ้นในตำนาน


การเมือง
28 ก.พ. 62
17:57
726
Logo Thai PBS
กฎหมาย "ปราบทุจริตจัดซื้อ" เปาบุ้นจิ้นในตำนาน

ประเทศไทยประสบปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทำให้สูญเสียงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีจำนวนมหาศาล แม้จะมีหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอยู่หลายฉบับ แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถทำให้การทุจริตนี้น้อยลงไปได้เลย

การจัดซื้อจัดจ้างจึงขาดความโปร่งใส และเป็นช่องทางให้บุคคลแสวงหาผลประโยชน์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการควบคุมตรวจสอบการกระทำดังกล่าว

งานวิจัยโครงการ “พัฒนาการของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

โดยเก็บข้อมูลผ่านวิธีวิจัยเอกสาร (Documentary Research) โดยเฉพาะเอกสารสำคัญของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 103/7 วรรคแรกและวรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เพื่อสะท้อนถึงปัญหาและเสนอแนะแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ด้วยหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

โดยมีสาเหตุประการสำคัญคือ ข้อมูลและขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐไม่ได้มีการเปิดเผยให้สามารถตรวจสอบข้อมูลได้เท่าที่ควร

ด้วยเหตุนี้เองทำให้คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ได้เพิ่มเติมหลักการเกี่ยวกับการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของหน่วยงานภาครัฐ ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ในมาตราที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา 103/7 
วรรคแรก และวรรคสอง

แก้มาตรา 103/7 วรรคแรก

การแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรได้เพิ่มเติมหลักการในมาตรา 103/7 วรรคแรก เกี่ยวกับการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้

แก้มาตรา 103/7 วรรคสอง

และเพิ่มเติมบทบัญญัติในมาตรา 103/7 วรรคสอง กรณีที่มีการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่แสดงบัญชีการรับจ่ายของโครงการที่เป็นคู่สัญญาของรัฐต่อกรมสรรพากร นอกเหนือจากบัญชีงบดุลปกติที่ยื่นประจำปี เพื่อให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินและการคำนวณภาษีเงินได้โครงการดังกล่าว

ในการจัดทำแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการทุจริตใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กลับประสบปัญหาบางประการ คือ มาตรา 103/7 วรรคแรก ยังไม่เกิดผลในการปฏิบัติ เนื่องจากเกิดความไม่ชัดเจนในถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในมาตรา 103/8 ที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการให้ปฏิบัติตามมาตรา 103/7 วรรคแรก

เมื่อพิจารณาถ้อยคำในมาตรา 103/8 ทำให้อาจเข้าใจได้ใน 2 ลักษณะคือ

  • คณะรัฐมนตรีต้องสั่งการให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามข้อเสนอของ ป.ป.ช.
  • คณะรัฐมนตรีต้องมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวก่อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจะดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้

ด้วยถ้อยคำดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ในสองลักษณะที่แตกต่างกัน จึงทำให้คณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบในหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ จึงเป็นเหตุให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างสององค์กร ทำให้มาตรา 103/7 วรรคแรก ยังไม่เกิดผลในการปฏิบัติ

อย่างไรก็ตามในส่วนของ มาตรา 103/7 วรรคสอง กลับไม่มีปัญหาใดๆ เพราะมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ.2554 โดยความในวรรคสองมีผลบังคับใช้ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จากการศึกษาวิจัย นำสู่ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไข 2 แนวทางในการแก้ไขปัญหาในมาตรา 103/7 วรรคแรก ซึ่งนับเป็นปัญหาระหว่างคณะรัฐมนตรีกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.

  • ประการแรก เพื่อให้สมกับเจตนารมณ์ของกฎหมายจึงควรเสนอให้รัฐสภาแก้ไขมาตรา 103/8 ให้ชัดเจนเพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานของรัฐ รวมทั้งคณะรัฐมนตรีปฏิบัติตามได้โดยไม่ต้องให้คณะรัฐมนตรีซึ่งต้องเป็นผู้ถูกตรวจสอบ มีส่วนในการให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์ที่ต้องบังคับใช้กับตนเอง
  • ประการที่สอง ควรเสนอข้อขัดแย้งดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เมื่อผลการวินิจฉัยเป็นประการใด องค์กรทั้งสองก็ต้องปฏิบัติตามนั้น

ซึ่งข้อเสนอแนะทั้ง 2 แนวทางจะช่วยให้มาตรา 103/7 วรรคแรก เป็นกฎหมายที่บังคับใช้ได้จริง และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้

ที่มา: นันทวัฒน์ บรมานันท์ และคณะ, พัฒนาการของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2556.

เรียบเรียงโดย: ทีมงาน Research Cafe สกว.

ให้เสียงประชาชนไปไกลกว่าการเลือกตั้ง
#เลือกตั้ง62

ข่าวที่เกี่ยวข้อง