11 ประเทศ กฎหมายไฟเขียว “ตายอย่างสงบ”

สังคม
6 มี.ค. 62
09:35
119,384
Logo Thai PBS
11 ประเทศ กฎหมายไฟเขียว “ตายอย่างสงบ”
ด้วยเหตุที่ไทยยังไม่อนุญาตให้มีการ “การุณยฆาต” ถูกกฎหมาย ชายชาวไทยที่งอกในสมอง จึงต้องเดินทางไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อกระทำการการุณยฆาต โดยพบว่านอกจากสวิตเซอร์แลนด์แล้วยังมีอีก 10 ประเทศที่อนุญาตให้มีการดำเนินการ

เนเธอร์แลนด์ ประเทศแรก

เนเธอร์แลนด์ ประเทศแรกในโลกที่การุณยฆาต ถูกต้องตามกฎหมาย ประกาศใช้ครั้งแรกในปี 2545 โดยอนุญาตเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุ 12 ปี ขึ้นไป ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการป่วยเท่านั้น และผู้ป่วยต้องมีสติสัมปชัญญะในการขอร้องแพทย์ให้มีการทำการุณยฆาต

เบลเยียม ประกาศให้การทำการุณยฆาตถูกกฎหมายตั้งแต่เดือน ก.ย. พ.ศ.2545 ปีเดียวกับเนเธอร์แลนด์ กฎหมายระบุว่า ต้องกระทำโดยวิธีผู้ป่วยกระทำด้วยตัวเองเท่านั้น Physician Assisted Suicide (PAS) เท่านั้น และต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการยุติชีวิตของผู้ป่วย

จากการรายงานของ Federal Control Commission for Evaluating Euthanasia (CFCEE) เมื่อปี 2561 ระบุว่า เบลเยียม เป็นประเทศที่มีเด็กอายุน้อยที่สุดในโลกที่ได้รับการทำการุณยฆาต คือ เด็กอายุ 9 ขวบ ผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมอง และเด็กอายุ 11 ขวบ ผู้ป่วยโรคซิสติก ไฟโบรซิส Cystic fibrosis (CF) หรือโรคเรื้อรังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ป่วยจะมีสารคัดหลั่งเหนียวข้นทั่วร่างกาย ปัจจุบันโรคนี้ไม่มีวิธีรักษา ทำได้เพียงบรรเทาลงเท่านั้น อีกทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน

ลักเซมเบิร์ก เป็นประเทศที่การทำการุณยฆาตถูกต้องตามกฎหมาย เป็นลำดับที่ 3 ในสหภาพยุโรป (EU) เคยมีการเปิดโหวตร่างกฏหมายดังกล่าวในปี 2546 แต่ไม่ผ่าน และกลับมาพิจารณาให้ผ่านอีกครั้งในปี 2551 กำหนดให้การการุณยฆาตเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยต้องให้แพทย์ 2 คน ขึ้นไปอนุมัติเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย

“สวิตเซอร์แลนด์” การุณยฆาต มากที่สุด


สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีผู้ป่วยต่างประเทศเดินทางไปเข้ารับการทำกรุณยฆาตจำนวนมาก เพราะมีกฎหมายอนุญาตให้ผู้ป่วยยุติชีวิตด้วยวิธี Physician Assisted Suicide (PAS) ตั้งแต่ปี 2485 มีสถาบันด้านการทำยุติการรักษาสำหรับผู้ป่วยต่างชาติ ที่เดียวในโลก คือ Dignitas Suicide Clinic สถาบันแห่งนี้มีบุคคลสำคัญหลายคนมาจบวาระสุดท้ายที่นี่

กรณีที่เคยโด่งดังคือ นายเดวิด กู๊ดดอล (David Goodall) อายุ 104 ปี นักวิทยาศาสตร์ลูกครึ่งอังกฤษ-ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2561  ผู้ก่อตั้งบริษัท ลุดวิค มิเนลลี่ (Ludwig Minelli) ตั้งปณิธานไว้ว่า “ปรารถนาจะช่วยผู้ที่สุขภาพดีและเจ็บป่วยทางจิตใจให้ฆ่าตัวตายได้” โดยผู้ป่วยที่เดินทางมาทำการการุณยฆาตที่นี่มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ เยอรมัน อังกฤษ และฝรั่งเศส ด้วยอายุเฉลี่ย 69 ปี


ความสามารถของผมถดถอยลงกว่า 1-2 ปีที่ผ่านมา สายตาของผมเริ่มฝ้าฟางลงกว่า 5-6 ปีก่อนมาก ผมไม่ต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกแล้ว รู้สึกดีใจที่ผมจะมีโอกาสยุติมันลงเสียที 

ออสเตรเลีย ในอดีตเคยมีการประกาศกฎหมาย Rights of the Terminally Ill Act 1995 และมีผลบังคับใช้ในเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2539 ในรัฐนอร์เทิร์น เทร์ริทอรี แต่ต่อมาก็ถูกยกเลิก ล่าสุดเมื่อปลายปี 2560 ประเทศออสเตรเลียเพิ่งมีประกาศใช้กฎหมายภายในรัฐวิกตอเรีย Voluntary Assisted Dying Act 2017 จะมีผลบังคับใช้ในเดือน มิ.ย.นี้ โดยอนุญาตให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่คาดว่าจะเสียชีวิตภายใน 6 เดือนเท่านั้น นายเดวิด กู๊ดดอล ซึ่งเป็นพลเมืองของออสเตรเลียจึงตัดสินใจเดินทางไปจบชีวิตอย่างสงบที่สวิตเซอร์แลนด์


แคนาดา ในสมัยของนายกรัฐมนตรีจัสติน พีเอร์ เจมส์ ทรูโด (Justin Pierre James Trudeau) นายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดของแคนาดา วัย 48 ปี ได้ผลักดันร่างกฎหมายการตายอย่างสงบจากความช่วยเหลือของทีมแพทย์ด้วยวิธี PAS ภายในรัฐควิเบก ตั้งแต่ปี 2559 อนุญาตให้เฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้ายและไม่มีอาการป่วยทางจิตเท่านั้น โดยมีคำร้องที่เขียนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมมีพยานยืนยันอย่างน้อย 2 คน เพื่อป้องกันชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาทำการุณยฆาตในประเทศ จึงไม่อนุญาติให้ผู้ป่วยที่ไม่มีประกันสุขภาพของแคนาดาเข้ารับบริการ ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาการประกาศใช้ทั่วประเทศ

โคลอมเบีย ศาลรัฐธรรมนูญโคลอมเบียประกาศใช้กฎหมายอนุญาตการทำการุณยฆาต เมื่อปี 2553 อนุญาตเฉพาะ ผู้ป่วยในกลุ่มโรคเอดส์ ไตวายล้มเหลวจากมะเร็งตับ และภาวะของโรคที่ทำให้ผู้ป่วยทรมานโดยจำกัดความว่าเป็นผู้ป่วยหนัก ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวไม่อนุญาตในกลุ่มโรคความเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ และ โรคพาร์กินสัน

สหรัฐฯ อนุญาต 5 รัฐ


สหรัฐอเมริกา ยอมรับการการุณยฆาตในรูปแบบเชิงรับ (Passive Euthanasia) โดยอนุญาตให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่คาดว่าจะมีชีวิตไม่เกิน 6 เดือน ได้จบชีวิตด้วยตนเอง ภายได้การช่วยเหลือจากทีมแพทย์ในการเตรียมยาและอุปกรณ์ให้ โดยประกาศใช้ใน 5 รัฐ เท่านั้น ได้แก่ รัฐโอเรกอน เป็นรัฐแรกที่ประกาศใช้ ในปี 2540 ผ่านองค์กร Death with Dignity, รัฐวอชิงตัน, รัฐมอนตานา,รัฐนิวเม็กซิโก ,รัฐเวอร์มอนต์ และรัฐแคลิฟอร์เนีย เพิ่งประกาศใช้เมื่อปี 2559

เยอรมนี มีกฎหมายที่คล้ายกับสวิตเซอร์แลนด์ คือ อนุญาตให้ผู้ป่วยการุณยฆาต ในการยุติชีวิตด้วยตัวเองเท่านั้น แต่การทำการุณยฆาตโดยมีทีมช่วยเหลือยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

“ญี่ปุ่น” อนุญาต 2 แบบ

ญี่ปุ่น มีกฎหมายการุณยฆาต ทั้งเชิงรับ (Passive Euthanasia) และเชิงรุก (Active Euthanasia) อนุญาตเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย พร้อมทั้งได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่าไม่มีวิธีรักษา และได้รับการอนุญาตจากครอบครัวแล้ว
10.อินเดีย ศาลฎีกาแห่งอินเดียอนุมัติกฎหมายการการุณยฆาตในเชิงรับ (Passive Euthanasia) ในปี พ. ศ. 2554 อนุญาตให้ทีมแพทย์ยุติการรักษาแก่ผู้ป่วยผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น ส่วนวิธีแบบเชิงรุก(Active Euthanasia) ยังผิดกฏหมายในอินเดีย

ขณะที่ประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 มาตรา 12 ได้ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจต นา ของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

 

เรื่อง : ทิพากร ไชยประสิทธิ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง