เลือกตั้ง2562 : ทางเลือกที่สมดุล พัฒนาเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อม
7 มี.ค. 62
20:58
405
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2562 : ทางเลือกที่สมดุล พัฒนาเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม
วันที่ 9 กับเวที 10 วัน 1000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย พูดคุยกับตัวแทนพรรคการเมือง 5 พรรคเกี่ยวกับทิศทางในประเด็น "ทางเลือกที่สมดุล พัฒนาเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม"

วันนี้ (7 มี.ค.2562) วันที่ 9 ไทยพีบีเอส จัดรายการ 10 วัน 1000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย พูดคุยกับตัวแทนพรรคการเมือง 5 พรรคเกี่ยวกับทิศทางในประเด็น "ทางเลือกที่สมดุล พัฒนาเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม"

 

 

นโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคเป็นอย่างไร

 

 

นางพรทิพย์ หงชัย พรรคสามัญชน กล่าวว่า พรรคสามัญชนเกิดจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากสิ่งแวดล้อม จึงเข้าใจปัญหาเป็นอย่างดี เช่น ปัญหา เหมืองทองคำ ที่ทำเหมืองแล้วปล่อยมลพิษลงสู่แม่น้ำ ส่งผลกระทบให้ประชาชน ผลกระทบเหล่านี้มีมาก ดังนั้น หากจะทำอุตสาหกรรมเพื่อสร้างเม็ดเงินให้ประเทศนั้นคิดผิด แต่ควรทำการเกษตร รวมทั้งการปลูกข้าว และควรคำนึงถึงอุตสาหกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

สนับสนุนอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมวิถีชีวิตของประชาชน แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ต้องคำนึงถึงสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน ชุมชนต้องจัดการกับงานและอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาในชุมชน

นายดำรงค์ กล่าวว่า พรรคมีนโยบายสิ่งแวดล้อม เพิ่มป่า ลดสารเคมี สู้โลกร้อน ประเทศไทยตอนนี้ต้องการป่า 55% แต่ตอนนี้มีเพียง 33% ของประเทศ ควรเพิ่มป่าที่ต้นน้ำ ลดใช้สารเคมี เพาะกล้าไม้ 171 ชนิดที่เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก และ ข ให้ชาวบ้านปลูกในที่เดิมของเขา ซึ่งจุดนี้จะช่วยลดไฟป่า ลดสารเคมี ลดโลกร้อน เนื่องจากไฟป่าเกิดจากมนุษย์ทั้งนั้น ลดโลกร้อนวันนี้ต้องหยุดพืชผลการเกษตรในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร สนับสนุนการปลูกป่าแทน ปุ๋ยไม่ต้องใส่ สารเคมีไม่ต้องใช้ สร้างรายได้ที่ได้กินได้ตลอดปี ป่าสงวนแห่งชาติ ต้องมีการจัดการโดยให้ชาวบ้านเช่าไร่ละ 10 บาท 5 บาท ให้อบต. 5 บาท ให้กรมป่าไม้ เปลี่ยนการบุกรุกให้ถูกต้อง ให้ปลูกไม้ป่าแทน นอกจากนี้ พื้นที่ที่มีโฉนดที่ดินก็สามารถแก้ได้ และสถานที่ราชการต้องปรุงอาหารด้วยผักปลอดสารพิษ

นายปลอดประสพ กล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิต แต่ปัจจุบันมีปัญหา น้ำท่วม น้ำแข็งละลาย โอโซนลดลง โลกร้อน มลพิษเพิ่มขึ้น ป่าลดลง สิ่งเหล่านี้ต้องแก้ปัญหาด้วยนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แก้อย่างฉับพลันด้วยการปลูกป่าผืนใหญ่ให้เป็นระบบนิเวศ ปลูกป่าพารวย สร้างสมบัติของชาติ พื้นที่ 50 ล้านไร่ ลดและเลิกถุงพลาสติก และต้องใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้เร็วที่สุด โดยลดภาษีนอกจากนี้ต้องทำน้ำมันไบโอดีเซล 100 และรีไซเคิลทุกอย่างที่รีไซเคิลได้ ใช้ EIA อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมฟื้นฟูโครงการบริหารจัดการน้ำ ทั้งการส่งน้ำและการรับน้ำ บังคับกลุ่มทุนใหญ่ให้ปลูกป่า ปลูกปะการัง หรือจัดการระบบน้ำ ให้หันมาลงทุนกับธรรมชาติแทนโดยเชื่อมั่นว่าธรรมชาติสามารถสร้างมูลค่าได้ โดยลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท

นายเกียรติ กล่าวว่า การพัฒนาไม่จำเป็นต้องเสียสิ่งแวดล้อม พรรคมองว่าสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นภาระของคนรุ่นนี้ ในการปกป้องให้ไปถึงคนรุ่นหลัง รัฐควรมีเครื่องมือในการกำกับดูแล และสนับสนุนให้เอกชนมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ชุมชน ภาคประชาสังคมต้องช่วยดูแลปกป้องสิ่งแวดล้อม ประชาชนเป็นผู้หนึ่งในการทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งถุงพลาสติกและสินค้าที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โรงงานต้องอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในแง่ของอากาศต้องแก้มาตรฐานมลพิษ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ต้องให้เวลาเอกชนปรับมาใช้ไบโอดีเซล ยานยนต์ทั้งหมดต้องเปลี่ยนมาเป็นไฟฟ้า เรื่องน้ำต้องบริหารอย่างยั่งยืน ปล่องทุกปล่องของโรงงานต้องติดเครื่องวัด เพื่อรายงานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ด้านการเกษตรต้องลดการใช้สารเคมี การปลูกป่าต้องสนับสนุนการปลูกป่า 30% เป็นป่าต้นน้ำ และส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

นายพงศา กล่าวว่า พรรคกรีนจะไม่เอาการทวงคืนผืนป่า แต่ให้ประชาชนมาช่วยกันปลูกป่าด้วยกัน เราจะจัดการสิ่งแวดล้อมโดยไม่เอาอำนาจนิยม จะใช้การจัดการสิ่งแวดล้อมที่มาจากสำนึกประชาชน สร้างต้นไม้เป็นทรัพย์สิน ให้ประชาชนทำเอง ปีแรก 100 บาท ปีต่อมา 200 บาท หากต้นไม้เป็นทรัพย์สิน ทุกคนจะต้องการปลูกต้นไม้ และสร้างบัตรคนรวย ทุกคนที่ปลูกต้นไม้จะมีบัตรนี้ กรณีที่ปลูกต้นไม้แต่ตัดไม่ได้ พรรคกรีนจะทำให้ที่ดินทุกตารางนิ้วถูกกฎหมาย ตามประชาธิปไตยพื้นฐาน เพื่อให้ต้นไม้ตัดได้ ขายได้ คนจะเลิกปลูกข้าวโพด มาปลูกต้นไม้ สนับสนุนเกษตรกรรมสุขภาพ และต้องสร้างสภาประชาธรรม ให้ประชาชนตรวจสอบรัฐได้

 

แก้ปัญหาเหมืองแร่อย่างไร

 

 

นายปลอดประสพ สุรัสวดี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คนมีอายุ ประเทศมีอายุ โลกมีอายุ เราใช้ทุกอย่างด้วยการใช้ประโยชน์สูงสุด เช่น การทำเหมืองทองคำ ผู้ประกอบการมีความตั้งใจลงทุนและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านมากที่สุดหรือไม่ ราชการได้เข้าไปดูแลชาวบ้านอย่างใกล้ชิดหรือไม่ หากใช้ EIA ให้มีประโยชน์ ไม่ว่าขั้นตอนหรือกระบวนการใดก็สามารถบอกเลิกได้ เพียงแต่จะใช้ได้อย่างถูกต้องหรือไม่

 

ขณะนี้คนเพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมเปราะบางขึ้น ความคุ้มค่าของการขุดทองคำก็น้อย สรุปว่า ความจริงจังในการทำรายงานมีไม่เพียงพอ

 

นางพรทิพย์ กล่าวว่า การปิดเหมือง ไม่ได้ปิดด้วยคำสั่งของนายกฯ แต่ปิดด้วยพลังของชาวบ้าน ซึ่งการทำเหมืองละเมิดสิทธิประชาชน ทำให้น้ำดื่มไม่ได้ ปลากินไม่ได้ ผักกินไม่ได้ เป็นการสร้างปัญหาให้ชุมชน โครงการของอุตสาหกรรมต่างๆ หากจะวัดมูลค่าที่ได้ แลกกับความเสียหายของสิ่งแวดล้อม มันไม่คุ้มค่า หากน้ำสะอาด ไม่มีมลพิษ ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้อน้ำ ซื้อปลา ซื้อผักกิน ดังนั้น สิ่งแวดล้อมมีความสำคัญกว่าเศรษฐกิจ

นายเกียรติ กล่าวว่า รัฐบาลต้องพิสูจน์ว่าเอกชนทำผิดหรือไม่ ถ้าทำผิดต้องคุมเข้ม จัดการให้แก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ เพราะฉะนั้น หากเอกชนต่อสู้ว่ามีใบสัมปทานแล้วทำลายสิ่งแวดล้อมได้ เป็นสิ่งที่ผิด

นายดำรงค์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่า ต้นน้ำลำธาร การแลกเงินสัมปทานที่เข้าหลวงเพียงนิดเดียว แลกกับที่ดิน การออกโฉนดต่างๆ การขุดใต้ดิน ผมมองว่ามันไม่คุ้ม ชีวิตมนุษย์มีค่ามากกว่าเหมืองแร่ การตั้งเหมืองแร่มีหรือจะไม่ให้เงินแก่รัฐ มีแต่เจ้าบ้านที่ได้รับผลกระทบ

นายพงศา กล่าวว่า ทองคำคือสัญลักษณ์แห่งความจน ความรวยเท่านั้น ต้องคำนึงว่า คุ้มค่ากับการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ต้องแก้ที่วิธีคิด

 

นโยบายในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5

 

 

นายพงศา ชูแนม พรรคกรีน กล่าวว่า สร้างต้นไม้เพื่อดูดฝุ่น โดยการสร้างพื้นที่สีเขียวในพื้นที่เอกชนและประชาชน ด้วยการสร้างแรงจูงใจ 1 ตารางเมตรจ่าย 50 บาทต่อปี ให้รัฐจ่ายเงินด้วยภาษี ให้ทุกคนปลูกในพื้นที่ของตนเอง เราสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวใน กทม.ได้ ส่วนนโยบายเรื่องรถ ต้องใช้น้ำมันปาล์มมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง

 

ภาคเหนือ ต้องลดการทำพืชไร่ เพราะการทำพืชไร่ต้องมีการเผา เมื่อรัฐบังคับไม่ให้เผา เขาก็ต้องใช้สารเคมี

นายเกียรติ กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อน 70% มาจากเมือง ขณะที่ปัญหาฝุ่นมาจากหลายสาเหตุ 1.การก่อสร้าง ต้องคุมเข้มมากขึ้น 2.กฎหมาย มาตรฐานของฝุ่น ต้องปรับให้ค่ามาตรฐานลดลง เพื่อควบคุมมลพิษให้ดีขึ้น ต้องให้ระยะเวลาทุกฝ่ายปรับตัว อย่างโรงงานอุตสาหกรรม แต่ต้องเป็นระยะเวลาที่สั้น 3.การเผา ต้องมีการซื้อเครื่องมือการเกษตรให้ชุมชนบริหารจัดการ ใช้ร่วมกัน เพื่อลดการเผา ต้องหยุดทั้งหมด 4.แง่ถ่านหิน ไม่เอาแน่นอนเพราะการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใช้เวลา 5 ปี ถ่านหินถูกโรงไฟฟ้าแพง และต้องขนส่งไปที่กระบี่ ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะกระทบต่อการท่องเที่ยว เราไม่จำเป็นต้องเลือก 5.ยานยนต์ทั้งหมดต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นไฟฟ้า อุตสาหกรรมต้องเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว

นายปลอดประสพ กล่าวว่า การแก้ปัญหา ฝุ่นPM2.5 ต้องแก้ที่แหล่งกำเนิด ซึ่ง 55% มาจากการจราจรและรถยนต์ หากแก้ที่ยานยนต์ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ดีเซลครึ่งหนึ่ง และการเผาไหม้ไม่หมดครึ่งหนึ่ง ต้องเปลี่ยนเป็นไบโอดีเซลและไม่เอาเครื่องยนต์ดีเซล หรือ ลด 0% ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยใช้เวลา 3 ปี ให้ภาษีนำเข้าต้องเป็น 0 คนทั่วไปต้องเอื้อมถึงได้ รถขสมก.ต้องเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าให้หมด โดยใช้น้ำมัน B100 ก่อนในช่วงแรก ต้องให้ทุกโรงงานเข้านิคมให้ได้แล้วอยู่ในมาตรฐานของนิคม เราต้องประเมินสถานการณ์ ฝุ่นPM25 ได้ว่าจะมาช่วงไหน แล้ววางแผนให้รถวิ่งวันคู่วันคี่สลับกัน การฉีดน้ำมันทำไม่ได้จริงรัฐบาลเลิกเล่นละครได้แล้ว

นายดำรงค์ กล่าวว่า ต้องให้ประชาชนปลูกต้นไม้ อย่างในคอนโดอาจปลูกกระถาง 2 กระถางก็ทำได้ และเปลี่ยนพื้นที่มักกะสันเอามาทำเป็นสวนเลย การแก้ปัญหาการเผา ชาวเหนือมีเดือนที่ชัดเจนในการเผา เพราะเป็นเกษตรกร ดังนั้น ต้องให้ประชาชนปลูกต้นไม้แทน สร้างรายได้จากต้นไม้ ซึ่งได้เงินมากกว่าพืชผล ปุ๋ยไม่ต้องใส่ ยาฆ่าแมลงไม่ต้องฉีด ไฟไม่ต้องเผา

นางพรทิพย์ กล่าวว่า ต้องไม่เอาโรงงานอุตสาหกรรมหนัก อย่างโรงงานอ้อย ที่จะทำให้ประชาชนต้องปลูกอ้อย เมื่อต้องปลูกแล้วก็ต้องมีการเผา สิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไข คือ กฎหมายของรัฐต้องคุมเข้ม

 

พรรคการเมืองมีแนวทางทำเกษตรสุขภาพอย่างยั่งยืนอย่างไร

 

 

นายดำรงค์ พิเดช พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย กล่าวว่า สถานที่ราชการนำร่องใช้ผักปลอดสารพิษจากชุมชน ทำสัญญาข้ามปี เอกชนก็จะตาม ประชาชนก็จะตามไปเอง ไม่รู้ทำไมก่อนหน้านี้ไม่ทำ

 

เพราะรัฐสามารถทำได้ เพราะมีอำนาจอยู่ในมือ และเปลี่ยนจากเกษตรกรรมมาเป็นการปลูกต้นไม้ ลดการใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า รัฐต้องหยุดการใช้ทั้งหมด

 

นายพงศา กล่าวว่า คนทำเกษตรอินทรีย์ ต้องได้รับความคุ้มครองทันทีรัฐต้องดูแลคนข้างๆ จะพ่นยาเข้ามาในพื้นที่ไม่ได้ โดยเสนอผลร้ายที่ส่งผลต่อสุขภาพ ประชาชนก็จะดำเนินการร่วมกัน

นายเกียรติ กล่าวว่า สัญญาที่เกษตรกรมีกับโรงงานเป็นธรรมหรือไม่ อย่างเช่น อ้อย มี พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ต้องมีการแบ่งผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ส่วนเครื่องมือการเกษตรจะช่วยประชาชนได้มาก ต้องมีการจัดทำ พรรคจะจัดพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ จัดการทั้งเรื่องอ้อย เรื่องข้าว โดยจัดกลุ่มจังหวัดที่ปลูกอ้อย ให้ขึ้นทะเบียนและกับสิทธิประโยชน์และเป็นการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาเกษตรพันธสัญญาได้แน่นอน

นายปลอดประสพ กล่าวว่า พรรคส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และการพักหน้าดิน และฟื้นฟูหน้าดินเพื่อรองรับเกษตรอินทรีย์ ในส่วนนี้ต้องมีการเยียวยาเกษตรกรด้วย การพักหน้าดินและฟื้นฟูหน้าดินต้องมีการฟื้นฟูโดยใช้ขยะเปียกแปลงเป็นปุ๋ย นำสู่เกษตรกรในราคาถูก นำไปสู่เกษตรอินทรีย์ เพื่อไทยจะยกเลิกสารเคมีอย่างพาราควอต ส่วนการเผารัฐต้องออกเงินซื้อเครื่องตัดอ้อยให้เกษตรกรในชุมชน และต้องมีการวางแผนให้มีการจัดการเวลาในการปลูก

 

แนวคิดเกี่ยวกับความจำเป็นในการก่อสร้างเขื่อนภาคเหนือ

 

นายปลอดประสพ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่เอาเขื่อนแม่วงก์ เพราะใต้เขื่อนแม่วงก์มีแนวเขาตอนล่างอยู่ ควรใช้แนวเขานั้นเป็นอ่างเก็บน้ำ แม้จะต้องจ่ายเงินเวนคืนก็ต้องจ่าย แต่ได้อ่างเก็บน้ำที่เตี้ยลงมา และไม่ต้องกระทบกับใคร

นายดำรงค์ กล่าวว่า ต้นน้ำ ลำธารบนที่สูง มีเกษตรกรนำน้ำไปใช้มากทำให้ข้างล่างขาดน้ำ ขณะที่เขื่อนจะสะสมน้ำก็ต้องรีบปล่อยออกมาเพราะชาวบ้านไม่มีน้ำ การแก้ปัญหา คือสนับสนุนให้ปลูกป่าไม่ต้องปลูกพืชผลการเกษตร เรื่องเขื่อนต้องคุมเข้ม EIA ให้มีประสิทธิภาพ ลดการทุจริตคอร์รัปชัน

นางพรทิพย์ กล่าวว่า การสร้างเขื่อนต้องดูว่าสร้างเพื่อใคร ชาวบ้านมีห้วยมีลำธาร แต่เขื่อนมีเพื่อนายทุนทั้งนั้น พรรคเรา คุณสร้าง เราทุบ ตอนนี้พี่น้องริมโขงได้รับผลกระทบจากเขื่อนจีน ซึ่งพืชผลถูกน้ำท่วมบ่อยครั้ง  

 

จัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมกับ EEC อย่างไร

 

 

นายเกียรติ สิทธีอมร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ได้สอบถามนักลงทุนต่างชาติได้คำตอบว่ากลุ่มทุนต่างชาติจะมาร่วม EEC น้อยราย แต่สิ่งที่ต้องคำนึง คือผลกระทบต่อประชาชน และต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการอะไรจาก EEC และ EEC ไม่ควรครอบคลุม 6 จังหวัด ภาคตะวันออก ซึ่งต้องให้เหมาะสมกับพื้นที่ด้านสิ่งแวดล้อม

 

โดยเฉพาะมาบตาพุด ต้องแก้ไขความขัดแย้งทั้งเอกชนและชาวบ้าน จะทบทวนแผนต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งโครงการต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายสิ่งแวดล้อม

นางพรทิพย์ กล่าวว่า EEC ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่ต้องคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

นายดำรงค์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะสร้างโรงงานอะไร ต้องปลูกต้นไม้ด้วย ต้องให้รัฐบาลหรือพรรคใหญ่ๆ ในการแก้ปัญหา

นายปลอดประสพ กล่าวว่า EEC เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องเลือกบางที่เท่านั้นในการทำ ไม่ควรครอบคลุมทั้ง 6 จังหวัด ภาคตะวันออก และไม่ควรรีบเร่งให้โครงการเสร็จอย่างรวดเร็ว ต้องสนใจความเป็นอยู่ของประชาชน ต้องตั้งองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญมาจัดการ และต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ EIA ให้เป็นประโยชน์

นายพงศา กล่าวว่า ประเทศไทยควรทำ EEC แต่ต้องไม่กระทบกับคนอื่น โดยต้องจัดพื้นที่ให้กว้างใหญ่ไปทั้งภาคตะวันออก โดยแบ่งสัดส่วนให้ระบบนิเวศและมลพิษสมดุลกันไม่ใช่ให้ไปอยู่จุดใดจุดหนึ่งให้รับมลพิษเพียงจุดเดียว 

 

จะเพิ่มสวัสดิการเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอย่างไร

 

นายพงศา กล่าวว่า ผมไม่เชื่อกองกำลังติดอาวุธมารักษาป่า เราไม่ต้องใช้ปืน คนเราคุยกันรู้เรื่อง ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ต้องมีพนักงานแบกปืน

นายดำรงค์ กล่าวว่า เป็นอาชีพที่เสี่ยงที่สุด แต่รายได้น้อยที่สุด 6,000 บาท ดังนั้น ต้องจัดการคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้ดีขึ้น และคนต่างชาติทั้งนั้นที่เข้ามาบุกรุกป่าไทย เข้ามายิงหงายหลัง ยิงหงายหลัง ดังนั้น อาวุธจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐสวัสดิการ นโยบายขายฝัน? 

คำสัญญา "นักการเมือง" ต้านคอร์รัปชัน

การศึกษาไทย "ปฏิรูป" อย่างไรจึงจะสำเร็จ?

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง