ถอดรหัส ร่างพ.ร.บ.อุทยานฉบับใหม่ โทษแรงจำคุก 5 ปีปรับ 5 แสน

สิ่งแวดล้อม
8 มี.ค. 62
13:46
2,773
Logo Thai PBS
ถอดรหัส ร่างพ.ร.บ.อุทยานฉบับใหม่ โทษแรงจำคุก 5 ปีปรับ 5 แสน
ชาวบ้าน กังวลหลัง สนช.ลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ กำหนดบทลงโทษหนักบุกรุกเก็บของป่า โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ระบุเป็นการรอนสิทธิคนอยู่ในป่า โดยใช้กฎหมายขุดหลุมพรางสกัดชาวบ้านออกจากป่าอนุรักษ์

วานนี้ (7 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้การประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.... ในวาระ 2 วาระ 3 ต่อจากเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ทีผ่่านมา โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 140 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 7 เห็นสมควรประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เป็นกฎหมาย และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ กมธ.จากนั้นจะจัดส่งให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

นายสนิท อักษรแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนช. ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีวาระซ่อนเร้น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติมากกว่า 60 ปี ไม่มีความสุขสบาย ไม่ได้รับความสะดวก กฎหมายนี้จะช่วยให้ทุกอย่างถูกต้อง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสร้างความสมดุลระหว่างการอยู่ของชุมชนในอุทยานแห่งชาติ และทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างยิ่ง

สนช.เป็นห่วงว่าร่างกฎหมายนี้ จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่หาของป่า เก็บเห็ดแล้วถูกจับกุมดำเนินคดีจำนวนมาก รวมทั้งสัตว์เลี้ยงของ ชนเผ่าหรือชนพื้นเมืองที่เลี้ยงปล่อยเข้าป่าทุ่งหญ้าอยู่บริเวณบ้านแล้วเสี่ยงถูกจับ จะเป็นปัญหาหรือไม่

ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีบทลงโทษ ผู้เก็บหา และนำออกไปทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งไม้ ดิน หิน กรวด ทราย แร่ปิโตรเลียม หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ หรือกระทำการ อื่นใดอันส่งผลต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพหรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์หรือสวนรุกขชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

กรมอุทยานฯชี้ต้องจัดโซนนิ่งพื้นที่-จัดกลุ่มคน  

นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ภาพรวมร่างพ.ร.บ.อุท ยานฯ มุ่งแก้ปัญหาให้คนอยูในป่าอย่างถูกต้อง และมองเรื่องการใชทรัพยากรยั่งยืน และต้องจัดกลุ่มขึ้นทะเบียนให้ชัดเจนว่าใครบ้างที่มีสิทธิจะใช้ ใช้อะไรบ้าง ต้องกำหนดเงื่อนไขในการใช้ และกำหนดออกมาเป็นแผนในแต่ละอุทยานฯ โดยเฉพาะมาตรา 64 การเก็บหาของป่าบางอย่าง เช่น หน่อไม้ เห็ด  ต้องอ้างอิงตามหลักวิชาการ และถ้าใครจะอยู่ต้องยึดภายใต้กฎกติกา

 

ตอนนี้รัฐเปิดประตูมากแล้วให้คนอยู่ในป่า ไม่ได้ออกมาเพื่อรอนสิทธิ์คนในเขตป่า แต่เปิดช่องสร้างกฎกติกา เพื่อปกป้องไม่ให้ป่าเสียหาย การอยู่แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบ ส่วนเด็กเกเรก็ต้องถูกลงโทษ ไม่ได้ซ่อนเร้นหรืออำพราง เพราะต้องยอมรับความจริงว่าในป่ามีคนออกนอกกฎ

นายสมโภชน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ สำรวจทั่วประเทศแล้วมีพื้นที่ในชุมชนในป่าเท่าไหร่ ทั้งก่อนมติ ครม.30 มิ.ย.2541 และกลุ่มที่เข้ามาหลังจากคำสั่ง คสช.2557 และหลังปี 2557 จะต้องมีการโซนนิ่งพื้นที่ก่อน และจะให้ชุมชนใช้ประโยชน์ไดบางส่วนเพื่อไม่ให้กระทบ และชาวบ้านที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ต้องวางแผนในนามของกลุมชุมชน ศึกษาความเหมาะสมว่ามีทรัพยากรใดบ้างที่จำเป็นให้ใช้ประโยชน์ ใช้ได้ในปริมาณแค่ไหน โดยจากนี้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะต้องทำความเข้าใจกับพื้นที่ 

ยอมรับว่าชาวบ้านอาจจะกังวลว่าจะถูกจับโดยกฎหมายใหม่ที่มีบทลงโทษสูง ตอนนี้ชาวบ้านยังดำเนินชีวิตได้ปกติ จนกว่ากฎหมายจะบังคับใช้ แต่ไม่หมายความว่าจะเข้าไปเก็บหาของป่า หรือล่าสัตว์ได้ตามสะดวก 
 
เฟซบุ๊ก : กอดกะเหรี่ยง

เฟซบุ๊ก : กอดกะเหรี่ยง

เฟซบุ๊ก : กอดกะเหรี่ยง

 

ชาวบ้านระบุการขึ้นทะเบียนของป่า สกัดชาวบ้านทางอ้อม

ด้านนายพฤ โอโดเชา เครือข่ายกอดกะเหรี่ยง กล่าวว่า รู้สึกกังวลใจ และผิดหวัง สนช.ที่ไม่ยอมฟังเสียงชาว บ้าน ที่เรียกร้องให้แก้ไข รับฟังข้อเสนอที่ชาวบ้าน 10,000 รายชื่อช่วยนำเสนอเข้าไป ถือเป็นการไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมตามกระบวนการออกกฏหมาย

นายพฤ ตั้งคำถามว่ากรมอุทยานฯ ระบุว่ากฎหมายต้องการให้คนอยู่ในป่าแบบถูกต้องตามกฎหมาย แท้จริงแล้วพบว่ามีการสอดไส้เนื้อหารอนสิทธิชาวบ้านจนน่ากลัว เช่น หากอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ก็ต้องถูกนำออกไปในจุดอื่นๆ หรือการกำหนดให้อยู่ในพื้นที่ 20 ปี และคนที่ทำกินไม่ต่อเนื่อง 1 ปีเท่ากับถูกยืดคืนพื้นที่

เราจะถูกขุดหลุมพรางที่อุทยานออกแบบมาให้แล้ว เช่นที่ดินลุ่มน้ำชั้น 1 เอ จะใช้พื้นที่ไม่ได้ ต้องถูกกันแนวเขตไว้ บ้านและที่ดินทำกิน ที่เก็บหาของป่าจะถูกแยกออกจากกัน สิ่งที่ชาวบ้านกังวล เพราะกฎหมายฉบับนี้จะมีกระ บวนการคัด และมีข้อกำหนดที่กระทบกับวิถีชุมชน 
เฟซบุ๊ก : กอดกะเหรี่ยง

เฟซบุ๊ก : กอดกะเหรี่ยง

เฟซบุ๊ก : กอดกะเหรี่ยง

 

นายพฤ บอกอีกว่า สำหรับการขึ้นทะเบียนของกินในป่า เช่นขึ้นทะเบียนผักในป่า หน่อไม้ ยาสมุนไพร น้ำผึ้ง กบ หอย ปู ปลา ไม้ ฟืน หนอนด้วน ไผ่ วัวควาย ผลไม้ แล้วใครอนุญาต อธิบดีกรมอุทยานฯหรือ หัวหัวหน้าอุทยาน มันคือการรบกวนทำให้ชีวิตชาวบ้านเราเจอกับอุปสรรค คือเพื่อไม่ให้ชาวบ้านเข้าป่านั่นเอง

ต่อไปถ้าชาวบ้านเคยเก็บหาของป่าเช่น ผึ้งปีละ 500-600 รังทำเงินได้หลักแสนบาท หรือหาเห็ดปริมาณมากๆ ชาวบ้านเหลือก็มาขาย แต่ถ้าถูกกำหนดแค่หากินทำกิน ขายไม่ได้กระทบแน่นอน

ที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามยื่นเรื่องตามกระบวนการขอให้ สนช.รับร่างฉบับชาวบ้าน และขอให้นายกรัฐมนตรี ชะลอการนำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ปรากฎว่าชาวบ้านคัดค้านไม่สำเร็จ จนถึงตอนนี้มีร่างพ.ร.บ.อุทยานฯ ออกมาแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวลกับคนที่อยู่ในเขตป่า เบื้องต้นมีการหารือว่าอาจจะฟ้องศาลปกครองหรือไม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดบทลงโทษ “เก็บเห็ด”ผิดกฎหมาย คุก 5 ปีปรับ 2 หมื่นบาท

ครั้งแรก ! คทช.ไฟเขียวจัดคนอยู่ในป่าอนุรักษ์ 5.9 ล้านไร่

ข่าวดี ! หนึ่งปีป่าไม้ไทยเพิ่ม 3.3 แสนไร่

เปิดตัวเลขคนในเขตป่า

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง