"ฉัตรชัย" ชี้อากาศประเทศไทยยังมีสภาพ "เอลนีโญ่อ่อน" อีก 3 เดือน

สิ่งแวดล้อม
27 มี.ค. 62
12:07
625
Logo Thai PBS
"ฉัตรชัย" ชี้อากาศประเทศไทยยังมีสภาพ "เอลนีโญ่อ่อน" อีก 3 เดือน
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เผยอากาศของประเทศไทยในระยะ 3 เดือนนี้ยังคงมีสภาพเป็นเอลนีโญ่อ่อนๆ และจะกลับลงมาสู่สภาพเป็นกลางในกลางปีนี้ พร้อมคาดว่าปริมาณฝนรวมในเดือนเมษายนจะมีฝนมากกว่าเดือนมีนาคม

วันนี้ (27 มี.ค.2562) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2562 ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือ วิเคราะห์ติดตามลักษณะอากาศในระยะ 3 เดือนนี้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นพ้องตรงกันว่าประเทศไทยยังคงมีสภาพเป็นเอลนีโญ่อ่อนๆ และจะกลับลงมาสู่สภาพเป็นกลางในกลางปีนี้ ขณะที่ปริมาณฝนสะสม
จากต้นปีถึงปัจจุบัน คาดว่าปริมาณฝนรวมในเดือนเมษายนจะมีฝนมากกว่าเดือนมีนาคม แต่ยังมีพื้นที่มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และซีกตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ในเดือนพฤษภาคมคาดว่าประเทศไทยปริมาณฝนจะใกล้เคียงค่าปกติ แต่อาจยังมีฝนน้อยในภาคเหนือตอนล่าง ด้านตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน

​​ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและการจัดสรรน้ำ ทั้งกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่น กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำเฝ้าระวัง ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% ได้แก่ ขนาดใหญ่ ภาคเหนือ 1 แห่ง คือ เขื่อนแม่มอก 23 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 24% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ 52 ล้าน ลบ.ม. 3% สิรินธร 81 ล้าน ลบ.ม. 7% ลำนางรอง 34 ล้าน ลบ.ม. 29% ห้วยหลวง 33 ล้าน ลบ.ม. 25% และลำปาว 539 ล้าน ลบ.ม. 29% ภาคกลาง 3 แห่ง ทับเสลา 22 ล้าน ลบ.ม. 15% กระเสียว 15 ล้าน ลบ.ม. 6% และป่าสักชลสิทธิ์ 276 ล้าน ลบ.ม.29%

ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 112 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 10 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 87 แห่ง ภาคกลาง 13 แห่ง ภาคใต้ 2 แห่ง ซึ่งคาดว่าปริมาณน้ำใช้การได้ของเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่ง ยังเพียงพอจนถึงสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม ยกเว้นเขื่อนอุบลรัตน์ที่จะมีการดึงน้ำ Dead Storage มาใช้ตามแผนที่กำหนดไว้เดิมประมาณ 88 ล้าน ลบ.ม. (ปริมาณน้ำเท่ากับปี 59) เพื่อช่วยเรื่องน้ำอุปโภค-บริโภคเป็นหลัก ซึ่งจะไม่กระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในต้นฤดูฝน ขณะที่การวางแผนบริหารจัดการน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูฝน สทนช.ได้วางแผนร่วมกับหน่วยงานเจ้าภาพหลัก อาทิ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ดำเนินการปรับปรุงเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการป้องกันอุทกภัยและภัยแล้ง

 

​​

ด้านนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า มาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ที่ประชุมได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานรับผิดชอบหลักดำเนินการตามแผนงานอย่างเคร่งครัด แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยการประปานครหลวง มีปริมาณน้ำเพียงพอตลอดปี 2562 ส่วนการประปาส่วนภูมิภาคเดิมมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่สาขา จำนวน 10 หน่วยบริการ 9 จังหวัด ปัจจุบันพบว่ามีพื้นที่เสี่ยงฯ จำนวน 20 สาขา 18 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด, ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี และภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักเตรียมการแก้ไขปัญหาแล้ว อาทิ มาตรการจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลา ลดแรงดัน และสูบทอยน้ำเพื่อเก็บกักไว้ในแหล่งน้ำใกล้เคียง ทำฝายชั่วคราว และมีแผนซื้อน้ำจากเอกชน

ส่วนนอกเขตพื้นที่ให้บริการของการประปาภูมิภาค ทั้งประปาชุมชน/เทศบาล ได้เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ รวม 7 จังหวัด 15 อำเภอ ประกอบด้วยภาคเหนือ 2 จังหวัด 6 อำเภอ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด 5 อำเภอ (เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา) และภาคกลาง 2 จังหวัด 4 อำเภอ ราชบุรี กาญจนบุรี ขณะนี้ สทนช.ได้ดำเนินการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังเตรียมความพร้อมเชิงป้องกัน และจัดทำข้อมูลและแผนที่แสดงแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงพื้นที่เสี่ยงในรัศมี 50 กิโลเมตร ด้านเกษตรกรรม ในพื้นที่เสี่ยงการขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตรได้ลงพื้นที่สำรวจ สรุปมีจำนวน 11 จังหวัด 26 อำเภอ 71 ตำบล พื้นที่รวม 151,552 ไร่ ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ซึ่งปริมาณน้ำมีเพียงพอ สำหรับปลูกพืชตามมาตรการ ไม่มีการเพาะปลูกเพิ่มเติม สำหรับพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนารอบที่ 2 พบว่า ในเขตชลประทาน จำนวน 32 จังหวัด ปลูกเกินแผน จำนวน 1,186,336 ไร่ และนอกเขตชลประทาน มี 7 จังหวัด ปลูกเกินแผน จำนวน 133,702 ไร่ รวมทั้งประเทศ 36 จังหวัด ปลูกเกินแผน จำนวน 1,320,038 ไร่

​ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศพื้นที่เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภัยแล้งล่าสุดมีทั้งสิ้น 3 จังหวัด 8 อำเภอ 30 ตำบล โดย จ.ร้อยเอ็ด 2 อำเภอ 2 ตำบล จ.ศรีสะเกษ 3 อำเภอ 5 ตำบล เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และ จ.ตราด 3 อำเภอ 23 ตำบล ซึ่งขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร โดยขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เร่งดำเนินการหาแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงพื้นที่เสี่ยงในรัศมี 50 กิโลเมตร ตามที่ สทนช.ได้จัดส่งข้อมูลและแผนที่แสดงแหล่งน้ำ รวมถึงจัดเตรียมรถบรรทุกน้ำจากหน่วยงานสนับสนุนในพื้นที่เพิ่มเติมกรณีปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำไม่เพียงพอแล้วด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง