เลือกตั้ง2562 : เปิดขั้นตอนถอด กกต. ไม่ทันรับรอง ส.ส. 9 พ.ค.นี้

การเมือง
29 มี.ค. 62
13:11
1,331
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2562 : เปิดขั้นตอนถอด กกต. ไม่ทันรับรอง ส.ส. 9 พ.ค.นี้

กระแสการโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ให้บัตรผิดเขตในวันเลือกตั้งล่วงหน้า การวินิจฉัยเสียงจากนิวซีแลนด์โดยไม่นำบัตรไปนับคะแนนรวม ผลนับคะแนนล่าช้า และบัตรเขย่ง หรือตัวเลขผู้ใช้สิทธิไม่ตรงกับจำนวนบัตร นำไปสู่การตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอน 7 กกต.

รศ.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายขั้นตอนการยื่นถอดถอน กกต. ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหน้าที่แทนประชาชนในการยื่นถอดถอน กกต.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ

 

ประชาชนยื่น ป.ป.ช.ถอดถอน กกต.

  • ประชาชนยื่นเรื่องผ่าน ป.ป.ช.ซึ่งทำหน้าที่แทนเกี่ยวกับการไต่สวนกรณีมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือองค์กรอิสระ ตามมาตรา 234 
  • ป.ป.ช.พิจารณาว่าเข้าข่ายผิดจริยธรรม หรือกรณีอื่น ๆ หรือไม่ ซึ่งกรณีของ กกต.อาจอยู่ในข้อหลังซึ่งเป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง 
  • หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ว่ามีพฤติการณ์ หรือกระทำผิดตามที่ไต่สวน ตามมาตรา 235 ให้ส่งสำนวนและพยานหลักฐาน ไปยังอัยการสูงสุดภายใน 30 วัน ตามมาตรา 76 พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2561
  • อัยการสูงสุด สั่งฟ้องภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำนวน หากสำนวนไม่สมบูรณ์ให้แจ้งไปยัง ป.ป.ช. ภายใน 90 วัน และหากยังไม่แล้วเสร็จให้ตั้งกรรมการฝ่ายละ 5 คน ร่วมไต่ส่วน ก่อนส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา
  • หากศาลฎีกาฯ ประทับรับฟ้อง ให้ กกต.หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา
  • หากมีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาแล้วแต่กรณี ให้ผู้ต้องคำพิพากษาพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และอาจเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่เกิน 10 ปี ซึ่งกรณีอาจไม่มีโทษทางอาญา

 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ให้ประชาชนถอดถอนได้โดยตรง แต่ให้ ป.ป.ช.ทำหน้าที่แทน หากไม่พอใจการทำหน้าที่หรือการไต่สวน ให้ยื่นฟ้อง ป.ป.ช.

 

รศ.ยุทธพร วิเคราะห์ว่า ขั้นตอนดังกล่าวใช้เวลาไม่น้อยกว่า 240 วัน จึงทันต่อการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการวันที่ 9 พ.ค.นี้

กรณีที่มีการพิจารณาว่า กกต.กระทำผิดจริงและมีการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด แต่งตั้งบุคคลทำหน้าที่แทน ซึ่งอาจไม่กระทบผลการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นความผิดเฉพาะเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ กกต. ไม่ได้ถูกชี้ว่าการเลือกตั้งทุจริต หรือเติมบัตรคะแนน 

 

การทำหน้าที่ของ กกต. ไม่เกี่ยวข้องกับผลเลือกตั้ง ไม่เป็นโมฆะ หากกระบวนการการเลือกตั้งไม่ขัดต่อกฎหมาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง