เปิดบันทึกลับ ! ช่วยชีวิต 13 หมูป่า พ้นถ้ำหลวง

Logo Thai PBS
เปิดบันทึกลับ ! ช่วยชีวิต 13 หมูป่า พ้นถ้ำหลวง
หมอไทยเปิดบันทึกลับ เบื้องหลังช่วยชีวิต 13 หมูป่า ออกจากถ้ำหลวง ท่ามกลางความสนใจของคนทั่วโลก ลงในนิตยสารการแพทย์ชื่อดังของโลก ระบุทุกขั้นตอนมีความหมาย และละเลยไม่ได้ จากโชคชะตาที่มองว่ามืดมน จนออกมาพบครอบครัวที่รัก

เมื่อต้นเดือนเมษายน วารสารทางการแพทย์ชื่อดังระดับโลก New England Journal of Medicine ของสมาคมการแพทย์รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์บทความ “Prehospital Care of the 13 Hypothermic, Anesthetized Patients in the Thailand Cave Rescue” หรือการดูแลก่อนถึงโรงพยาบาลของ 13 ผู้ป่วย อุณหภูมิร่างกายต่ำผิดปกติ และได้รับการวางยาสลบในปฏิบัติการกู้ภัยในถ้ำ


บทความนี้เขียนโดยทีมแพทย์ชาวไทย 3 คน และชาวออสเตรเลีย 1 คน คือ พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ ล้อทวีสวัสดิ์ รองเลขาธิการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, พล.ต.วุฒิไชย อิศระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส


ที่น่าสนใจไม่ใช่เพียงเรื่องราวของสมาชิกทีมหมูป่า อะคาเดมี 13 ชีวิต ที่ผู้คนทั่วโลกต่างลุ้นและเอาใจช่วยกับภารกิจค้นหาและกู้ภัย แต่คือเบื้องหลังการทำงานของทีมแพทย์ การตัดสินใจท่ามกลางภาวะกดดัน เพื่อเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการลำเลียง 13 ชีวิต ออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 8-10 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกของการกู้ชีวิตคนไข้เด็กจำนวนมากที่สุดของโลก และต้องนำออกมาจากถ้ำท่ามกลางอุณหภูมิน้ำต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส

 

รายละเอียดของบทความ ระบุว่า นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส ตัดสินใจใช้ยาสลบในกลุ่มเคตามีน ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และการใส่หน้ากากออกซิเจนแบบเต็มหน้าให้กับสมาชิกทีมหมูป่า ซึ่งให้ออกซิเจนได้ 80 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นทีมกู้ภัยทยอยนำทั้ง 13 ชีวิตออกมาจากถ้ำ โดยเด็กคนที่ 2 เกิดภาวะตัวเย็นเกิน หรือไฮโปเทอร์เมีย พบอุณหภูมิของร่างกายลดต่ำ 34.8 องศาเซลเซียส ระหว่างการเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ เล่าว่า การได้ลงตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine ถือเป็นความฝันของนักวิชาการไทยหลายคน เพราะการันตีคุณภาพว่า บทความน่าสนใจและดีพอ ไม่ใช่เพียงเรื่องของการช่วยเหลือทีมหมูป่า

กว่า 5 เดือนที่ผ่านมา ต้องปรับแก้งานเขียนอยู่หลายครั้ง กระทั่งตีพิมพ์แล้วจึงมีสำนักข่าวทั้งในและต่างประเทศนำไปเขียนข่าว ทำให้บทความทางวิชาการนี้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่การกู้ภัยในไทย แต่เป็นแผนเผชิญอุบัติภัยที่ใช้ได้ทั่วโลก อีกหนึ่งสิ่งสำคัญ คือ พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและให้อิสระในการตัดสินใจของผู้ที่กำลังเผชิญเหตุ พร้อมพระราชทานสิ่งของ ถังออกซิเจน โรงครัวพระราชทาน และประชาชนจิตอาสา


ความบังเอิญ หรือโชคชะตา

แม้อยู่ระหว่างใส่เหล็กด้ามขา หลังเข้ารับการผ่าตัดอาการบาดเจ็บขาได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ แต่ พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ ตัดสินใจทันทีที่จะเป็นส่วนเล็กๆ ในปฏิบัติการครั้งนี้ เขาอาสานำส่งความช่วยเหลือไปถึง 13 ชีวิต และเจ้าหน้าที่หน่วยซีลที่ดำน้ำค้นหาภายในถ้ำ หลังชมรายการพิเศษทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2561 ว่า เพจ Thai Navy SEAL ร้องขอ Emergency Foil Blanket หรือผ้าห่มฉุกเฉิน

พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ เล่าว่า เข้าไปมีส่วนร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วยความบังเอิญ และเดินทางสู่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน เวลา 23.00 น. ของวันเดียวกัน โดยมอบผ้าห่มฉุกเฉิน 100 ชุด และแท่งเรืองแสงอีก 50 ชุด ให้กับ พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน พร้อมเป็นตัวแทนแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เพื่อให้กำลังใจทีมแพทย์ ซึ่งทันเวลากับที่ทั่วโลกได้ทราบข่าวดีในคืนวันที่ 2 ก.ค.2561 โดยนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ยืนยันว่าพบทั้ง 13 ชีวิต บริเวณเนินนมสาว ห่างจากพัทยาบีช 400 เมตร

 

สูญเสีย “จ่าแซม”

กระทั่งวันที่ 6 ก.ค.2561 ผู้คนทั่วโลกที่ติดตามภารกิจครั้งนี้ตกอยู่ในความโศกเศร้า เมื่อทราบข่าว จ.อ.สมาน กุนัน หรือ จ่าแซม อดีตหน่วยซีล เสียชีวิตขณะที่กำลังลำเลียงขวดอากาศ จากโถง 3 ไปสามแยกภายในถ้ำหลวง

พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ แสดงความเสียใจไปยัง พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล พร้อมประสานกับ พ.อ.กิติพันธ์ เฮงสนั่นกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย ระดมหาเครื่องกระตุกหัวใจ (AED) จากในพื้นที่เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากการใช้ผ้าห่มฉุกเฉินอาจไม่เพียงพอ หากเกิดภาวะตัวเย็นและหัวใจหยุดเต้น

 

เบื้องหลังภารกิจ “ทีมแพทย์” กู้ภัยถ้ำหลวง

พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ กลับมาร่วมภารกิจกู้ภัยในวันที่ 2 หรือวันที่ 9 ก.ค.2561 เพื่อแก้ปัญหาภาวะไฮโปเทอร์เมีย โดยใช้ประสบการณ์ในการกู้ชีวิตเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากไทยยังมีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับไฮโปเทอร์เมียไม่มากนัก และทหารส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับภาวะฮีทสโตรกจากอากาศร้อนมากกว่า

สำหรับภารกิจกู้ภัยครั้งนี้ใช้แพทย์ 50 คน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลอื่น ๆ มากกว่า 100 คน โดยเฉพาะในถ้ำจนถึงโรงพยาบาลสนามแพทย์ ส่วนใหญ่จบจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า หมุนเวียนกันทำหน้าที่ด้วยความเชื่อใจและให้เกียรติกัน

แพทย์พี่น้องพระมงกุฎ ทุกคนได้รับการฝึกและปฏิบัติร่วมกันตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนแพทย์ทหาร จึงปฏิบัติภารกิจอย่างรวดเร็วโดยไม่ตั้งคำถาม ทำหน้าที่ด้วยความเชื่อใจและให้เกียรติกัน สมดั่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเมตตาให้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งนี้

 

จากการประเมินภารกิจในวันแรก ผู้บังคับบัญชาระบุว่า อยากให้แก้ไข workflow มีการซักซ้อมอย่างดีให้มีประสิทธิภาพรวดเร็วมากขึ้น และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่รายงานว่าเด็กคนที่ 2 มีอุณหภูมิต่ำเมื่อไปถึงโรงพยาบาล นำไปสู่การมอบหมายภารกิจจาก พล.ต.วุฒิไชย อิศระ ในฐานะผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของภารกิจกู้ภัย และเป็นผู้ร่วมให้คำแนะนำในบทความฉบับนี้

พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ เริ่มเขียน Protocol ABC+H ในกระดาษเพื่อให้ทุกคนในทีมได้รับทราบขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ รวมทั้งการแบ่งหน้าที่ชัดเจน เพื่อให้ Workflow กระชับรวดเร็ว และการแบ่งหน้าที่ประเมินประเด็นสำคัญที่สุดในการกู้ชีพโดยแพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญ ทั้งด้านระบบทางเดินหายใจ การช่วยหายใจ ด้านหัวใจ และไฮโปเทอร์เมียโดยวิสัญญีแพทย์ รวมทั้งขั้นตอนสำคัญที่จุดคัดแยกอาการตามสี เช่น สีแดงสำหรับเด็กที่ต้องรักษาเร่งด่วนเพราะมีอันตรายถึงชีวิต สีเหลืองสำหรับเด็กที่ต้องรักษาและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

"หนุ่ม ๆ ลืมตา อ้าปาก" ผมจะกระตุ้นด้วยเสียงดัง เพื่อประเมินอาการของเด็กแต่ละคนและให้เขาทำตามที่บอก เมื่อขานว่า “ปากแดง” ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ทีมที่ 2 จะเข้ามาดูแลเด็กต่อทั้งการถอดชุดเว็ทสูท โดยทีมซีลที่ชำนาญและทีมแพทย์ที่จะประคองต้นคอก่อนจะเคลื่อนย้ายเข้าไปในจุดให้การรักษาจนอาการคงที่ และส่งต่อโรงพยาบาล 

 

ทุกคนตื่นหมด ผมถึงยอมให้ไปโรงพยาบาล ที่ทำมากกว่านั้นคือดูเรื่องอุบัติเหตุ ตรวจสอบกระดูกต้นคอ ให้เด็กทุกคนยกคอขึ้นมา

วันที่ 3 มีแผนจะลำเลียงเด็กออกพร้อมกันทั้งหมด 5 คน ใช้เวลา 5 ชั่วโมง เนื่องจากวันที่ 2 นำเด็กออกมาได้อย่างต่อเนื่อง และจัดระเบียบการทำงานให้ชัดเจน ทุกคนรู้หน้าที่และซ้อมเป็นอย่างดี วันนี้จึงเป็นภารกิจช่วยเด็ก ๆ ออกมามากที่สุด รวมทั้งเด็กตัวเล็กที่สุด ที่ทุกคนเป็นห่วงว่าชุดดำน้ำและหน้ากากจะไม่พอดี ผมจึงเน้นทุกอย่างที่ต้องใช้จริงสำหรับเด็กคนนี้ เพราะทุกคนในทีมต้องเตรียมพร้อมทุกอย่างที่ใช้จริงแบบนาทีต่อนาที ถือเป็นวันที่ทีมแพทย์ต้องเผชิญบททดสอบที่ยากที่สุด “High Risk & Hihg Volume”

 

ตอนแรกไม่รู้ว่าใครจะมา อาจจะมาพร้อมกันหมด จะจัดการยังไงให้ทุกคนได้รับการดูแลแบบเดียวกัน ต้องนำเตียงมาเพิ่ม ละลายพฤติกรรมไม่มีเต็นท์แดง เหลือง ทุกคนต้องทำหน้าที่ได้ดีหมด

 

วันที่ 3 นอกจากเด็กที่ตัวเล็กที่สุดแล้ว ยังพบว่าคนแรกที่ส่งมาถึงโรงพยาบาลสนาม มีอุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส ถือว่ามีภาวะไฮโปเทอร์เมียมากที่สุดในภารกิจนี้ แพทย์จึงแก้ไขอุณหภูมิภายใน ด้วยการให้น้ำเกลือที่อุ่นเตรียมไว้แล้ว ที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส และแก้ไขอุณหภูมิภายนอกด้วยผ้าห่มพิเศษสำหรับเพิ่มอุณหภูมิเข้าสู่ร่างกาย ควบคู่กับผ้าห่มฉุกเฉินที่เด็ก ๆ เคยใช้ในถ้ำ โดยห่อตัวป้องกันสูญเสียความร้อนระหว่างการเคลื่อนย้ายด้วยเฮลิคอปเตอร์

นอกจากนี้ในบทความยังระบุถึงการใช้อุปกรณ์ที่พอจะหาได้ในข้อจำกัด เช่น ใช้ไดร์เป่าผม สำหรับเป่าผมที่เปียกชื้นและปลายนิ้ว เพื่อให้การวัดออกซิเจนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพยาบาลทำหน้าที่บันทึกสัญญาณชีพและวัดอุณหภูมิเด็กทุก 5 นาที เพื่อประเมินและป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการแก้ไขภาวะไฮโปเทอร์เมีย

เมื่อเดินทางไปถึงโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ พบว่าในวันที่ 3 ไม่มีเด็กที่อุณหภูมิต่ำเลย เนื่องจากทีมแพทย์ทำทุกขั้นตอนอย่างรวดเร็ว เปรียบเหมือนการ “เข้าพิท” ของรถฟอร์มูล่าวัน ทุกคนต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง ทำตามความสามารถของแพทย์เฉพาะทางแบบนาทีต่อนาที รวมทั้งสื่อสารได้ดีตลอดทาง ตั้งแต่รับมาที่จุดคัดแยกจนเข้าถึงจุดให้การรักษา กระทั่งอาการคงที่และเคลื่อนย้ายเพื่อส่งต่อโรงพยาบาลปลายทาง

 

 

ขั้นตอนไหนยากที่สุด

แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเริ่มต้น นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส ให้ยาอะโทรปีน (Atropine) และเคตามีน (Ketamine) ในการสลบและหลับ ใส่หน้ากากให้ฟิต จนแน่ใจว่าทุกอย่างปลอดภัยและส่งต่อเคฟไดรเวอร์ ซึ่งทำหน้าที่ได้ดีมากตั้งแต่โถง 9 มายังโถง 3 พอพ้นน้ำมาพบทีมกองทัพเรือที่มีความชำนาญในการดำน้ำ เพราะโถง 3 ถึงโถง 2 ต้องดำน้ำออกมา

ส่วนลำเลียงมาโถง 2 เป็นพื้นที่สูงชัน เด็กต้องอยู่ในเปลและลำเลียงผ่านสลิง จนมาถึงโถงที่ 1 และปากทาง โดยประเมินความพร้อม เช็กอุณหภูมิร่างกาย การหายใจ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อพบว่าปลอดภัยเพียงพอ จะเร่งนำส่งมาที่ปากถ้ำ และขึ้นรถพยาบาลมายังเต็นท์โรงพยาบาลสนาม

 

พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ กล่าวปิดท้ายว่า ในฐานะของพ่อที่มีลูกอายุ 14-15 ปี รู้สึกดีใจทุกครั้งที่เด็กตื่นและได้ไปเจอพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพราะรู้ว่าการที่ผู้ปกครองไม่ได้พบหน้าลูกเป็นความทรมานมาก

 

เราป้องกันทุกอย่างที่ควรจะทำจนเด็กฟิตเพียงพอ ดีใจที่เป็นส่วนเล็กๆ เป็นความร่วมมือของทุกคน การเป็นคนไทยนั้นดีมาก ถูกหล่อหลอมเป็นครอบครัว เสียสละโดยที่ไม่ต้องมีคนบอก

แม้คุณหมอจะยังไม่เคยพบ 13 ชีวิต นับแต่วันที่ดูแลเมื่อออกจากถ้ำ แต่เขาดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทั้งหมดให้กลับสู่อ้อมกอดของครอบครัวอีกครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง