3 ศิลปินไทย โชว์งานศิลปะร่วมสมัย "เวนิส เบียนนาเล่" ครั้งที่ 58

Logo Thai PBS
3 ศิลปินไทย โชว์งานศิลปะร่วมสมัย "เวนิส เบียนนาเล่" ครั้งที่ 58
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม นำ 3 ศิลปินไทย แสดงผลงานศิลปะในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58 ที่ประเทศอิตาลี เสนอเรื่องเล่า ความจริง และประวัติศาสตร์ ในดินแดนไทยสู่สายตาโลก

ปีนี้ประเทศไทยเข้าร่วมมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58 ที่ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 11 พ.ค. - 24 พ.ย. 2562 โดยมีนายธวัชชัย สมคง เป็นภัณฑารักษ์ และมีศิลปินเข้าร่วมโชว์ผลงาน 3 คน ได้แก่ นายปัญญา วิจินธนสาร นายสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ และนายกฤช งามสม

นายธวัชชัย สมคง ภัณฑารักษ์ กล่าวว่า ธีมในงานครั้งนี้จะนำไปจัดแสดงในศาลาไทยคือ โลกยังคงหมุนไป (The Revolving World) นิทรรศการศิลปะในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอเรื่องเล่า ความจริง และประวัติศาสตร์ ในดินแดนของประเทศไทย บนขอบเขตกลวิธีในการจัดการความจริงทั้งสามประเภท โดยมีพื้นฐานมาจากบริบททางวัฒนธรรม ทางสังคม วาทกรรมความเป็นชาติ และพลวัตความสัมพธ์ระหว่างไทยกับต่างชาติ

นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ คัดลอกจิตรกรรมฝาผนังหอไตร วัดบางแคใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นจิตกรรมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มาจัดแสดงโดยสร้างห้องที่มีผนัง 4 ด้านขึ้นมา เพื่อโชว์งานจิตรกรรมไทย ประเพณี ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ครอบคลุมเนื้อหา ซึ่งตัดมาจากพุทธประวัติและพุทธชาดกตอนต่าง ๆ

 

จิตรกรรมฝาผนังหอไตร มีวิธีการวาดอันประณีตและการลงสีสดอย่างพิถีพิถัน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นฝีมือของช่างหลวงผู้เชี่ยวชาญ ถือได้ว่าเป็นจิตรกรรมตามขนบช่างหลวงเพียงแห่งเดียวในสมุทรสงคราม

ทั้งนี้ ภายในห้องจัดแสดง บริเวณกลางห้องยังมีงานประติมากรรมอีกชิ้นหนึ่งจัดวางไว้ เป็นการตั้งคำถามถึงความเชื่อของคนไทยที่มีต่อรูปเคารพแบบไทย

 

งานร่วมสมัยของเราจะไม่เหมือนตะวันตกแน่นอน เพราะเป็นงานร่วมสมัยที่มีความเป็นไทยอยู่


นายสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ นำเรื่องเล่า “ตำนานแม่นากพระโขนง” ที่ตกทอดกันมานับร้อยปีในสังคมไทย เป็นโศกนาฏกรรมที่เชื่อกันว่ามาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มาสื่อความหมายใหม่ โดยถ่ายทอดผ่านภาพวาดนามธรรมจัดวางในตู้ไฟ ด้านหลังตู้ไฟจะนำเสนอภาพแบบนากาทีฟของภาพวาดด้านหน้า เปรียบเสมือนสองด้านของเหรียญ ที่แม้จะดูใกล้ชิดกันมากเพียงใด แต่ก็อยู่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง อย่างความตายและชีวิตหลังความตาย

 

ภาพวาดอีกชุดหนึ่งเป็นภาพที่สื่อถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อันลือลั่นที่เคยเกิดขึ้นจริง สมศักดิ์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของสุสานทหารสัมพันธมิตร ที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยนำเสนอในลักษณะสองด้านอีกเช่นกัน

ภาพสองด้าน เปรียบเหมือนกับโลกสองโลกที่ขนานกัน สีที่ใช้จะอยู่ตรงข้ามกัน ซึ่งจะสร้างมิติใหม่อีกมิติหนึ่ง

 

นายกฤช งามสม ศิลปินสื่อสมัยใหม่ นำผลงาน “ตู้ประวัติศาสตร์” ไปแสดง เป็นการผนวกทุกสิ่งที่เคยจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ผสมปนเปกับวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ของโลกตะวันตก เปรียบได้กับบริบทการปะทะประสานทางวัฒนธรรมอันเฟื่องฟูในสมัยนั้น

 

ผลงานดังกล่าว ตั้งอยู่บนหลักการของคู่ตรงข้าม สื่อสารมุมมองสองแบบคล้ายคลึงบ้าง แปลกต่างบ้าง ชวนให้คิดถึงประเด็นเดียวกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่าเรื่องเล่า ความจริง และประวัติศาสตร์ จะผันแปรแตกต่างกันไปตามบริบทของสังคมแต่ละสมัย แต่กาลเวลาจะเป็นผู้ร้อยเรียงเรื่องราวของทุก ๆ สิ่งเข้ามาไว้ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันเสมอ

 

ทั้งนี้ งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ เป็นงานมหกรรมศิลปะที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในโลก หลายคนเปรียบว่าเป็นเวทีโอลิมปิกงานศิลปะ ที่ศิลปินชื่อดังจากทั่วโลกใฝ่ฝันที่จะนำผลงานของตัวเองมาเป็นส่วนหนึ่งในงานโชว์

งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ จัดประจำทุก ๆ 2 ปี ซึ่งเริ่มต้นจัดงานปีพ.ศ. 2438 (ค.ศ.1895) และประเทศไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2553

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง