แพทย์เตือนกินหมูดิบเสี่ยงโรคหูดับ พบเสียชีวิตแล้ว 12 คน

สังคม
15 พ.ค. 62
18:17
11,903
Logo Thai PBS
แพทย์เตือนกินหมูดิบเสี่ยงโรคหูดับ พบเสียชีวิตแล้ว 12 คน
จ.น่าน พบผู้ป่วยโรคหูดับเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ขณะที่แพทย์เตือนว่าหากยังรับประทานหมูดิบอาจมีโอกาสเป็นโรคถึงตายได้

วันนี้ (15 พ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสัปดาห์นี้ที่โรงพยาบาลน่าน มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคไข้หูดับ จากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส หลังรับประทานหมูดิบแล้ว 3 คน และตั้งแต่ต้น 2562 มีผู้ป่วยโรคนี้แล้วรวม 8 คน

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน คาดว่าปีนี้จะมีผู้ป่วยโรคนี้มากขึ้น เพราะยังเป็นช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งโรคนี้จะเกิดมากช่วงรอยต่อระหว่างฤดูร้อนกับฤดูฝน และสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยรับประทานหมูดิบ โดยนำมาปรุงเป็นลาบดิบและหลู้ดิบ

แพทย์อธิบายว่า โรคไข้หูดับจากเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส พบมากในหมู โดยเฉพาะเลือดหมู หากผู้บริโภคมีภาวะเสี่ยง เช่น มีโรคพิษสุราเรื้อรัง กินหมูดิบร่วมกับดื่มสุรา หรือป่วยเป็นโรคเบาหวาน จะมีโอกาสติดเชื้อและเป็นโรคนี้ได้ง่าย ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันจึงไม่ควรบริโภคหมูดิบทุกกรณี พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงความร้ายแรงของโรคหูดับ ซึ่งอาจจะทำให้เสียชีวิตได้

พบเสียชีวิตจาก "ไข้หูดับ" แล้ว 12 คน

ก่อนหน้านี้ กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 28 เม.ย.2562 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 12 คน โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คืออายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ 55-64 ปี และ 45-54 ปี ส่วนภาคที่พบมากที่สุดคือ ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ส่วนจังหวัดที่พบมากที่สุดคือ จ.นครสวรรค์ รองลงมาคือ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และน่าน

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ยังระบุว่า โรคไข้หูดับติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และเยื้อบุทางตา จากการกินเนื้อหมูดิบ ปรุงไม่สุกหรือเลือดหมูดิบ โดยจะเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อไม่กี่ชั่วโมงถึง 5 วัน มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน ถ่ายเหลว คอแข็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสูญเสียการได้ยิน ถึงขั้นหูหนวกถาวร ข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อ รุนแรงถึงติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้ โดยกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงคือ เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ตับแข็ง และโรคมะเร็ง เป็นต้น ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์และบอกประวัติการรับประทานหมูดิบ เพราะหากได้รับการรักษาเร็วจะช่วยลดอัตราการหูหนวกและการเสียชีวิตได้

สำหรับการป้องกันโรค ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ส่วนการเลือกซื้อเนื้อหมู ควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่สด ไม่มีสีแดงคล้ำหรือมีเลือกคั่งมากๆ ผ่านร้านค้าที่มีใบรับรองการนำเนื้อสุกรจากโรงงานฆ่าสัตว์ที่มีมาตรฐาน และไม่รับประทานเนื้อหมูที่ตายเอง

กรณีผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาลและสัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าหรือบู๊ทยาง สวมถุงมือ ใส่แว่นกันเลือดกระเด็นเข้าตา รวมถึงสวมเสื้อปกปิดมิดชิดระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิดและล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง