"พรเพชร" แนะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความที่มา ส.ว

การเมือง
19 มิ.ย. 62
18:55
549
Logo Thai PBS
"พรเพชร" แนะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความที่มา ส.ว
ประธานวุฒิสภา ระบุกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นตรวจสอบที่มาของ ส.ว.ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว.ในเรื่องคุณสมบัติ มีกระบวนการตามกฎหมาย แนะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ระบุให้ขอรายละเอียดการใช้งบ 1,300 ล้านบาทจากทาง กกต.ซึ่งเป็นหน่วยที่จัดหงบคัด ส.ว.

การเปิดเกมในสภาของฝ่ายค้านวันนี้ อาจจะถือเป็นการจี้จุดไปที่จุดแข็งของรัฐบาลนั่นก็คือสมาชิกวุฒิสภา 250 คน วันนี้ฝ่ายค้านเสนอญัตติด่วนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอตรวจสอบการสรรหา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

วันนี้ (19 มิ.ย.2562) ศาสตราจารย์ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ระบุว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถตรวจสอบวุฒิสภาได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย โดยเฉพาะการตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ส.และ ส.ว.จึงแนะนำ ส.ส.พรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยื่นเรื่องผ่านประธานรัฐสภา เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นความสงสัยได้

ทั้งนี้คณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แถลงเดินหน้า ยื่นญัตติ ขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.เพื่อพิจารณาศึกษาและตรวจสอบ 4 ประ เด็นหลัก คือ ที่มา ระเบียบ-วิธีสรรหา ผู้ที่ได้รับเลือกชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะปมปัญหาการขัดกันแห่งผลประโยชน์ รวมถึงวิธีการและการเบิกจ่ายงบ 1,300 ล้านบาท 

โบ้ย กกต.จัดสรรงบคัด ส.ว.

ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การใช้งบประมาณในการสรรหา ส.ว.1,300 ล้านบาทที่มีข้อสงสัยให้ขอรายละเอียดจากทาง กกต.เพราะเป็นผู้ดำเนินการรับสมัคร รวมถึงกระบวนการสรรหาทั้งหมด และหากมีการตรวจสอบ ส.ว.จะไม่ทำให้การทำงานสะดุด เพราะเป็นแค่ข้อกล่าวอ้างที่ใครก็พูดได้ และยังไม่รู้ด้วยว่า ญัตติดังกล่าว สภาจะรับหรือไม่

ส่วนเรื่องของการโหวตนายกรัฐมนตรี ขออย่าโยงให้เกิดปัญหา เพราะยังเป็นเรื่องที่ไกลเกินกว่าจะตอบได้ และส่วนตัวเชื่อว่าการโหวตนายกรัฐมนตรี ของ ส.ว.จะไม่เกี่ยวกับการอิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ควรดูที่จริยธรรมในการทำหน้าที่ดีกว่า

 

ส่วนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมรัฐสภาวันนี้ มีวาระเพียงรับทราบการตั้งกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม พร้อมขยายเวลาทำงานเป็น 40 วัน ซึ่งนอกจากระเบียบและหลักเกณฑ์การประชุมแล้ว จะต้องพิจารณาจัดตั้งกรรมาธิการสามัญ ประจำสภาฯ เพื่อติดตามและตรวจสอบฝ่ายบริหารด้วย

ขณะที่นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ รวมถึงนายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึงนายวิเชียร ชวลิต ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ยกร่างข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้บรรจุคณะกรรมาธิการสิทธิ ด้านความหลากหลายทางเพศ เป็นกรรมาธิการสามัญประจำสภาฯ เพื่อผลักดันกฎหมาย และนโยบายต่างๆ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง