"อาเซียน" ถกปมร้อนส่งตัวโรฮิงญากลับรัฐยะไข่-ข้อพิพาททะเลจีนใต้

ต่างประเทศ
22 มิ.ย. 62
15:51
2,442
Logo Thai PBS
"อาเซียน" ถกปมร้อนส่งตัวโรฮิงญากลับรัฐยะไข่-ข้อพิพาททะเลจีนใต้
เปิดฉากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่34 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพแล้ว ถกวิกฤตความรุนแรงชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ของเมียนมา โดยหนุนส่งผู้ลี้ภัยจากรัฐยะไข่ออกนอกประเทศ รวมทั้งข้อพิพาททะเลจีนใต้ และการแก้ปัญหาขยะทะเล

วันนี้ (22 มิ.ย.2562) ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้ให้การต้อนรับผู้นำจากชาติสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 34 ช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีการประชุม มีหลายประเด็นสำคัญที่อยู่ในสนใจของประเทศอาเซียน โดยเรื่องที่ได้รับความสนใจนอกเหนือไปจากปัญหาวิกฤตการณ์ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ของเมียนมาแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นประเด็นข้อพิพาทเหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ว่า ชาติสมาชิกอาเซียนมีภารกิจ ในการร่วมมือกันส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อสนับสนุนประชาคมที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในเวลานี้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นมีความสำคัญ เนื่องจากภูมิภาคอาเซียนกำลังเผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 โดยบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน จะร่วมกันหารือ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ประชาคมอาเซียน เพื่อรับมือความท้าทายเสถียรภาพในภูมิภาคและความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและในด้านอื่นๆ ให้ครบถ้วน

หนุนผู้ลี้ภัยจากรัฐยะไข่ออกนอกประเทศ

นายดอน กล่าวอีกว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน หารือถึงกรณีการส่งตัวผู้ลี้ภัยจากรัฐยะไข่ออกนอกประเทศ ว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิของเมียนมา และบังกลาเทศในการตกลงเรื่องนี้ร่วมกันอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องการคัดกรอง การส่งกลับ การกำหนดเวลา จำนวนผู้ลี้ภัยที่จะส่งกลับให้ชัดเจน

โดยอาเซียนได้ส่งหน่วยงานด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ ลงสำรวจพื้นที่ พบว่าเมียนมามีความพร้อมมากขึ้น ทั้งในเรื่องความปลอดภัยที่ผู้ลี้ภัย เดินทางกลับมาแล้วจะไม่มีปัญหา การยอมรับสถานะในสังคม ซึ่งเมียนมา เตรียมจะออกเอกสารแสดงตัวตนให้กับผู้ลี้ภัยชาวรัฐยะไข่ รวมทั้งทางเมียนมาได้ยืนยันความปลอดภัยในพื้นที่ 

กระบวนการเจรจาหารือส่งผู้ลี้ภัยกลับจะเกิดขึ้นในปีนี้ เป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเมียนมา ทั้งนี้ก็ตาม อาเซียนจะพยายามช่วยกันดูแลส่งเสริมให้กระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับยังรัฐยะไข่เมียนมาได้จริง  

ชูประเด็นขยะทะเลอาเซียน 

ขณะเดียวกันสาระสำคัญอีกประเด็นหนึ่งของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้ คือปัญหาด้านสิ่งแวด ล้อมรวมถึงขยะพลาสติกในทะเล ข้อมูลจากรายงานขององค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม ocean conservancy ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 2558 ระบุว่า สมาชิกอาเซียนหลายประเทศทั้ง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทยถือเป็นหนึ่งใน 5 ประเทศ ที่ทิ้งขยะพลาสติกลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลก รองจากจีนเท่านั้น

ขณะที่การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อเอกสารผลลัพธ์ ได้แก่ ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และกรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันทั้งด้านนโยบายการบริหารที่จะช่วยลดปริมาณขยะทะเล ซึ่งเอกสารทั้ง 2 ฉบับจะถูกนำเสนอเพื่อขอการรับรองในการประชุมระดับผู้นำอาเซียนครั้งนี้

แม้ว่าจุดยืนของอาเซียนปีนี้ จะให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่นักเคลื่อนไหวเพื่อยังกังวลว่าหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการบังคับใช้นโยบายเหล่านี้ได้

ขณะที่อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ ปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ เนื่องจากก่อนหน้านี้เกิดเหตุเรือจีนชนเรือประมงฟิลิปปินส์จนอับปาง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวฟิลิปปินส์อย่างมาก

ล่าสุดโฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า โรดริโก ดูเตอร์เต ผู้นำฟิลิปปินส์ ยอมรับข้อเสนอของจีนที่จะให้มีการสอบสวนร่วมในประเด็นที่เรือจีนไม่ให้การช่วยเหลือเรือประมงฟิลิปปินส์ขณะกำลังอับปาง โดยเรือลำดังกล่าวมีลูกเรืออยู่ถึง 22 คน

"ฟิลิปปินส์" ฟ้องจีนข้อพิพาททะเลจีนใต้

ประกอบกับเมื่อวานนี้ Albert del Rosario อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ถูกกักตัวระหว่างเดินทางไปติดต่อธุรกิจในฮ่องกง และไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าฮ่องกง โดยหลายฝ่ายคาดว่าอาจเป็นเพราะ del Rosario มีส่วนร่วมในการยื่นฟ้องจีน กรณีข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งยิ่งทำให้กระแสความไม่พอใจจีนในหมู่ชาวฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.) ก่อนจะออกเดินทางมายังประเทศไทย โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ให้คำมั่นระหว่างให้สัมภาษณ์กับนักข่าวท้องถิ่นว่า จะยกประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เข้าหารือในเวทีอาเซียน และฟิลิปปินส์จะไม่ยอมรับแผนที่เส้นประ 9 เส้นที่จีนใช้อ้างกรรมสิทธิ์ ซึ่งประเด็นนี้ยังคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนแบบเต็มคณะในช่วงเย็น จะมีการผลักดันในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ชี้ "ไทย-อาเซียน" มีศักยภาพรับมือเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง

ผบ.ตร.มั่นใจดูแลประชุมอาเซียน เชื่อไร้ปัญหากลุ่มป่วน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง