สทนช.พร้อมรับ "พายุมูน" ชี้ช่วยเติมน้ำเขื่อนเหนือ-อีสาน

สิ่งแวดล้อม
4 ก.ค. 62
17:50
1,043
Logo Thai PBS
สทนช.พร้อมรับ "พายุมูน" ชี้ช่วยเติมน้ำเขื่อนเหนือ-อีสาน
สทนช.หารือประเมินสถานการณ์พายุ “มูน” ระบุส่งผลดีเติมน้ำในแหล่งน้ำพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน หลังเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางกลางน้ำน้อยกว่า 30% พร้อมประเมินสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

วันนี้ (4 ก.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์พายุ “มูน” โดยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์อากาศ ฝนและปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ ซึ่งจากการติดตามปริมาณฝนสะสม 3 วันจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนมูน พบว่ามีปริมาณฝนสะสมสูงสุดบริเวณ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด, อ.เมือง จ.นครพนม และ อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ โดยได้มีการแจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและดินโคลนถล่มบริเวณ จ.พิษณุโลก 1 หมู่บ้าน, จ.เพชรบูรณ์ 18 หมู่บ้าน และเตรียมพร้อม 4 หมู่บ้าน, จ.เพชรบุรี 5 หมู่บ้าน

ส่วนการคาดการณ์ฝนตกหนักในวันนี้ (4 ก.ค.) ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก และวันพรุ่งนี้ (5 พ.ค.) บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งเป็นผลดีในหลายพื้นที่ ทั้งที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำในไร่นาของเกษตรกรที่มีปริมาณน้ำน้อย

ขณะเดียวกันยังส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น รวมทั้งสิ้น 243 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีถึง 207 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลลงแหล่งน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ 5 แห่ง จากทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล, เขื่อนแม่กวงอุดมธารา, เขื่อนกิ่วคอหมา, เขื่อนแควน้อยบํารุงแดน และเขื่อนภูมิพล

 

ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ น้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้น 8 แห่ง จากทั้งหมด 13 แห่ง ได้แก่ เขื่อนห้วยหลวง, เขื่อนน้ำอูน, เขื่อนน้ำพุง, เขื่อนจุฬาภรณ์, เขื่อนอุบลรัตน์, เขื่อนลำปาว, เขื่อนสิรินธร และเขื่อนลำตะคอง จากการวิเคราะห์สถานการณ์ สามารถประเมินว่า ปริมาณน้ำทั้งหมดจากอิทธิพลของพายุลูกนี้จะมีไม่ถึง 300 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำปัจจุบันยังไม่เป็นที่น่ากังวล เนื่องจากอ่างเก็บน้ำหลายแห่งยังมีปริมาณน้ำน้อย จึงสามารถรองรับน้ำฝนในฤดูฝนปีนี้ได้อีกเป็นจำนวนมาก โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่น้ำน้อยกว่า 30% มีจำนวน 16 แห่ง และมีมากกว่า 30% แต่ไม่ถึง 60% จำนวน 19 แห่ง มีเพียง 3 แห่งเท่านั้นที่ปริมาณน้ำมากกว่า 60% แต่ไม่ถึง 80% ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลาง จากจำนวนแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั้งหมด 38 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 128 แห่ง สทนช.จึงสั่งเร่งเก็บกักน้ำให้มากที่สุดในช่วงฤดูฝนนี้ เพื่อให้เพียงพอกับน้ำต้นทุนในฤดูแล้งปีถัดไป

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้คาดการณ์สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในระหว่างวันที่ 5-15 ก.ค.นี้ จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ปริมาณฝนสะสมที่ตกติดต่อกัน 15 วัน ปริมาณฝนน้อยกว่า 30 มิลลิเมตร เพื่อให้ได้พื้นที่ที่แม่นยำที่อาจจะเสี่ยงกับภาวะขาดแคลนน้ำที่จะกระทบกับการอุปโภค บริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง