"กฟผ." ผูกขาดผลิตไฟฟ้าคือทางออก?

เศรษฐกิจ
9 ก.ค. 62
10:29
4,514
Logo Thai PBS
"กฟผ." ผูกขาดผลิตไฟฟ้าคือทางออก?
กรณี กฟผ. มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่ถึงครึ่งหนึ่งการผลิตทั้งหมด กำลังเกิดข้อร้องเรียนว่า ขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ว่า รัฐต้องถือครองสาธารณูปโภคเกินครึ่งหรือไม่...น่าสนใจว่าจะพิจารณาอย่างไร และหาก กฟผ.เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าให้มากจนเกินครึ่ง จะเป็นผลดีจริงหรือ

หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าเอกชนผันผวนและร่วงแรง ช่วงปลายสัปดาห์ก่อน เพราะมีกระแสข่าวว่า กฟผ.อาจต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า ให้มากกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ตามรัฐธรรมนูญ 

 


ต้นตอของข่าวมาจากหนังสือผลการวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อดีตกรรมการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ร้องเรียนว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 56 วรรค 2 ที่ระบุว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนต่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 ไม่ได้”

 

 

ใจความหนังสือ ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเสนอแนะให้กระทรวงพลังงาน ทำสองอย่าง อย่างแรก ให้ทบทวน ยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี ต้องให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน และสองคือ ต้องดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ภายในกำหนดเวลา 10 ปีนับจากปี 2562

กระทรวงพลังงานได้หารือแล้วชี้แจงว่า ได้รับทราบแล้ว และกำลังพิจารณาข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินตามขั้นตอน โดยยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด และแผนพีดีพี ทุกฉบับ ครม.ได้ให้ความเห็นชอบ ที่สำคัญภาคเอกชนมี บทบาทในการผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2532

สัดส่วนโรงไฟฟ้า กฟผ.ต่ำ อาจไปไม่ถึงครึ่ง...

 

มาดูสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ในปัจจุบัน ข้อมูลล่าสุดสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กฟผ.มีสัดส่วนอยู่ที่ 34.9 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือ โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และการรับซื้อจากต่างประเทศ และหากเดินหน้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ พีดีพี 2018 ปลายแผน สัดส่วนของ กฟผ.ยิ่งน้อยลงไปเหลือประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์

 

มีข้อสังเกตว่า...แม้ กฟผ.จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคตทั้งหมดก็ยังไม่ช่วยให้สัดส่วนผลิตไฟเพิ่มขึ้นมากนัก หากจะยกเลิกสัญญาเอกชนที่ดำเนินการอยู่ก็เป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้จะพิจารณาอย่างไร อาจต้องมองการตีความรัฐธรรมนูญ และ หากกฟผ.กลายเป็นผู้ผลิตไฟส่วนใหญ่จะเหมาะสมหรือไม่ 

ศาล รธน.ชี้ขาด คือทางออก

หากมองในข้อกฎหมาย อาจต้องพิจารณาว่าโครงข่าย โครงสร้างขั้นพื้นฐาน ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้หมายถึงอะไร เพราะปัจจุบันแม้ กฟผ.ผลิตไฟไม่ถึงครึ่ง แต่ผู้ผลิตเอกชนทุกรายต้องทำสัญญาขายไฟให้ กฟผ.รายเดียว กฟผ.เป็นเจ้าของระบบสายส่งทั่วประเทศ แบบนี้คือโครงข่ายทั้งหมดหรือไม่ หรืออะไรที่เรียกว่าความมั่นคง สัญญาขายไฟของเอกชนคือความมั่นคงหรือไม่ หากมีข้อโต้แย้งไม่ได้ข้อยุติ อาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อให้ได้ข้อยุติ

 

 

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน มองว่าความมั่นคงคือการกำกับดูแล ให้เอกชนทำตามสัญญา ไม่ใช่การเหมาผลิตไฟรายเดียว

กฟผ.ควรกลับมาเป็นผู้ผลิตไฟส่วนใหญ่เหมือนอดีต เหมาะสม?

กฟผ.เคยผลิตไฟในระบบทั้ง 100% ก่อนเริ่มให้เอกชนเข้ามาแบ่งสัดส่วนไป หากกลับไปเหมือนอดีต น่าพิจารณาโดยมองว่าผู้ใช้ไฟฟ้าว่าต้องการอะไร ที่ประเมินได้ มีสองเรื่อง คือ การใช้ไฟได้ต่อเนื่องมีเสถียรภาพ และราคาค่าไฟฟ้ามีความเหมาะสม รวมทั้ง ยิ่งถูกยิ่งดี

สิ่งที่พอสรุปได้คือ การผลิตไฟจาก กฟผ.เอง หรือ เอกชนผลิตให้ เสถียรภาพไม่ต่างกัน ส่วนราคาค่าไฟ หากเปิดให้เกิดการประมูลแข่งขันเสรี อาจจะมีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่มีเทคโนโลยีดี เสนอค่าไฟฟ้าได้ต่ำกว่ามาแข่งขัน เทียบกับ กฟผ.ที่เป็นองค์กรราชการ และมีข้อจำกัดระเบียบหลายด้าน แข่งขัน หรือ ยกให้ กฟผ.อะไรดีกว่ากัน...


ตอนประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น IPP รอบ 3 เมื่อปี 2556 กฟผ.ถูกกีดกันไม่ให้แข่งขัน ในทางกลับกัน โรงไฟฟ้าบางแห่ง รัฐระบุว่าเป็นโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงยกให้ กฟผ.และบริษัทลูก ดำเนินการ
นี่คือความลักลั่นของนโยบายพลังงานไฟฟ้าที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอน เปิดช่องให้เกิดข้อโต้แย้ง
เรื่องไฟฟ้าที่มีมูลค่าการลงทุนสูง แต่เกี่ยวข้องกับประชาชนหมู่มาก เป็นไปได้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีนโยบายชัดเจนและสร้างความเข้าใจให้มาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง