พบสวนสนุกในกรุงเทพฯ 15 แห่งไม่มีใบอนุญาต

สังคม
12 ก.ค. 62
13:18
3,545
Logo Thai PBS
พบสวนสนุกในกรุงเทพฯ 15 แห่งไม่มีใบอนุญาต
แม้ว่าธุรกิจสวนสนุกจะมีกฎเกณฑ์ระบุไว้ชัดเจน แต่พบว่าสวนสนุกในกรุงเทพมหานคร 15 แห่งจากทั้งหมด 48 แห่งที่ตั้งถาวร ไม่มีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและใบอนุญาตประกอบกิจการ และมี 8 แห่งตกเกณฑ์มาตรฐาน

กรุงเทพมหานครร่วมกับหลายหน่วยงานตรวจสอบสวนสนุกในพื้นที่ ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน พบว่าใน 26 เขตมีสวนสนุกที่ตั้งถาวร 48 แห่ง จำนวนนี้มี 8 แห่งตกเกณฑ์มาตรฐาน เช่น ไม่มีป้ายแนะนำหรือคำเตือนสำหรับผู้เล่น ไม่มีการอบรมผู้ควบคุมดูแลเครื่องเล่น ไม่ได้กำหนดตารางการดูแลอุปกรณ์หรือซ้อมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน

ในจำนวนสวนสนุก 48 แห่งทั้งที่เปิดในและนอกอาคาร ไม่มีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและใบอนุญาตประกอบกิจการถึง 15 แห่ง ซึ่งสวนสนุกกลุ่มนี้ต้องแจ้งสำนักงานเขตเพื่อขอใบอนุญาตให้ถูกต้องภายใน 15 วัน หากไม่ดำเนินการให้เรียบร้อยจะถูกสั่งให้หยุดบริการและมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท

 

นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้ได้แจ้งไปยังเขตที่กำกับดูแลให้กำหนดระยะเวลาขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง หากเกินกำหนดจะถูกสั่งให้หยุดกิจการจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตเรียบร้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ยากและไม่เกินกว่าเหตุ เพียงแค่ผู้ประกอบการไปยื่นขอใบอนุญาต

ขณะที่สวนสนุกชั่วคราวตามลานกิจกรรม งานวัด ตลาดนัด แหล่งชุมชนต่างๆ ยังต้องกวดขันดูแลอย่างเข้มงวดและต้องขออนุญาตดำเนินการติดตั้งเครื่องเล่นให้ถูกต้องเช่นกัน

เปิดกฎหมายคุมเครื่องเล่นในสวนสนุก

เมื่อสวนสนุกเป็นสถานที่รวมรวมความสนุกสนาน แต่ถ้าประมาทก็อาจเกิดเหตุอันตราย ในทุกการประกอบกิจการสวนสนุก จึงกำหนดให้ถูกควบคุมด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับประชาชนที่ใช้บริการ

หากผู้ประกอบการจะดำเนินการเปิดให้บริการเครื่องเล่นชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบชั่วคราวหรือถาวร ต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานปกครองในท้องถิ่น พิจารณาและออกใบอนุญาตให้ดำเนินการติดตั้งสวนสนุกได้ ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมเครื่องเล่น พ.ศ.2558 จะก่อสร้าง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายเครื่องเล่น ก็ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น

ในกรณีที่เครื่องเล่นเป็นโครงสร้าง ต้องมีการออกแบบติดตั้งพื้น เสา คาน หรือฐานราก อย่างชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน เครื่องเล่นเหล่านี้เข้าข่ายเป็นอาคาร ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 คือต้องมีคู่มือติดตั้ง คู่มือการใช้งานเครื่องเล่น คู่มือการตรวจสอบและบำรุงรักษา คู่มือปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งแผนซ้อมรับเหตุฉุกเฉิน

 

ยังไม่นับรวมสวนสนุกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ต้องพิจารณาตามเกณฑ์การตรวจสวนสนุกใน 5 มิติ ทั้งเรื่องการขออนุญาตถูกต้องมีคู่มือการติดตั้ง มีป้ายคำเตือน บอกวิธีใช้ กำหนดอายุผู้เล่น อีกทั้งยังต้องมีคู่มือการดูแลบำรุงรักษาว่าเครื่องเล่นชนิดใดต้องตรวจทุกวัน หรือทุก 3-6 เดือน หรือทุก 1-5 ปี

ส่วนคนคุมเครื่อง ต้องผ่านการฝึกอบรมและมีแผนผังซ้อมรับเหตุฉุกเฉิน รวมถึงการดูแลความสะอาดป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อในผู้มาใช้บริการเครื่องเล่น ทั้งหมดเป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพปี 2561 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง