ซ่อม-สร้าง ถ.พระราม2 หวั่นซ้ำรอยยุค "ถนนเจ็ดชั่วโคตร"

สังคม
30 ก.ค. 62
09:40
1,515
Logo Thai PBS
ซ่อม-สร้าง ถ.พระราม2  หวั่นซ้ำรอยยุค "ถนนเจ็ดชั่วโคตร"
ถนนพระราม 2 รถติดหนักขึ้น หลังการก่อสร้าง 2 โครงการใหญ่ ปรับขยายถนน-สร้างทางยกระดับ นักวิชาการ ชี้ กรมทางหลวงไม่บริหารหน้างาน เปิดพื้นที่ก่อสร้าง-ลดผิวจราจร แนะใช้พื้นที่สองข้างทางคืนผิวจราจรลดผลกระทบระยะสั้น

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่สำรวจปัญหารถติดตลอดถนนพระราม 2 (ทางหลวงหมายเลข 35) หลังจากมีประชาชนส่วนหนึ่งแสดงความเห็นและสะท้อนปัญหาผ่านเพจสถาปนิก เพื่อสังคม ถึงปัญหารถติดสะสมจากการปรับขยายทาง และการก่อสร้างทางยกระดับ

การลงพื้นที่ วันที่ 3 ก.ค. ตั้งแต่เวลา 15.00 น. พบว่าการจราจรหนาแน่นตั้งแต่ทางลงทางด่วนดาวคะนอง ไปจนถึงโลตัสพระราม 2 (ยังไม่ถึงจุดที่มีการก่อสร้าง) โดยประชาชนที่ใช้ถนนเส้นนี้ แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงปัญหารถติด และรถติดหนักขึ้นจากการปรับขยายถนน

 

ผู้หญิงคนหนึ่ง ใช้รถเมล์เป็นประจำ บอกว่า เธอใช้รถเมล์เดินทางไม่ไกล อย่างวันนี้จะเดินทางไปยังสำนักงานประกันสังคม ซึ่งห่างจากจุดนี้แค่ 7 กม. แต่รอมานานกว่า 30 นาที รถเมล์ก็ยังไม่มา เธออธิบายความเห็นส่วนตัวว่า สาเหตุที่รถติดหนักอาจจะเป็นเพราะช่วงเวลาตอนบ่ายมีรถออกมามากและวันนี้ฝนตกด้วย

จะไปประกันสังคมใกล้ๆ นี่ ครึ่งชั่วโมงแล้วยังไม่ได้ไป บางทีโมโห ไม่ไปเลยก็มีค่ะ

ขณะที่นักศึกษาอีกคน บอกว่า เธอใช้รถสองแถวเป็นประจำ สิ่งที่เธอต้องทนไม่ใช่แค่ปัญหารถติด แต่เธอต้องทนสูดดมฝุ่นควันจากรถยนต์ที่ติดแน่นอยู่บนถนนด้วย อย่างไรก็ตามเธอรู้สึกชินกับการใช้รถโดยสารบนถนนนี้เส้นนี้เสียแล้ว

 

ส่วน ผู้หญิงคนสุดท้าย เล่าว่า เธอต้องขึ้นรถเมล์จากย่านพระราม 2 เพื่อไปต่อรถที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปทำงานที่ย่านสุขุมวิท เธอทำใจกับการเดินทางบนถนนเส้นนี้ ที่บางครั้งอาจต้องเผื่อเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง แต่สถานการณ์ของเธอไม่เลวร้ายนัก เพราะส่วนหนึ่งชินแล้ว และระยะหลังเลือกเช่าห้องพักในเมือง แล้วกลับมานอนบ้านสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ทั้งนี้เธอเชื่อว่าการซ่อม-สร้างถนนมีส่วนที่ทำให้รถติด แต่ยอมทนกับสภาพในวันนี้ เพื่อจะให้คนรุ่นลูกรุ่นหลายสะดวกสบายขึ้นในวันข้างหน้า

คิดว่าการก่อสร้างน่าจะมีผลต่อรถติด แต่อนาคตจะสบายขึ้น ลำบากรุ่นเราวันนี้ แต่รุ่นลูกรุ่นหลานน่าจะสบายขึ้น

2 โครงการใหญ่บน "พระราม2"

สาเหตุสำคัญที่ทำให้รถติด เพราะถนนพระราม2 ตั้งแต่ช่วงวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก (บางขุนเทียน) มีการก่อสร้าง 2 โครงการ โครงการแรก คือการปรับขยายทางตั้งแต่ บางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทางกว่า 11 กม. โดยขยายทางหลักจาก 3 เลน เป็น 4 เลน และขยายทางคู่ขนาน จาก 2 เลนเป็น 3 เลน

การปรับขยายทาง ทำให้มีปัญหารถติด 2 จุด จุดแรก คือ บริเวณ กม.15 (แสมดำ) มีการลดเลน-ทำทางเบี่ยง และยังใกล้กับสะพานกลับรถ จึงทำให้รถติดเป็นขอขวดที่จุดนี้ และจุดที่ 2 คือบริเวณวัดพันท้ายนรสิงห์ ที่มีการลดเลน-เปิดผิวถนนเพื่อรื้อถอนโครงสร้างสาธารณูปโภค จนทำให้ผิวการจราจรลดลงและกลายเป็นปัญหารถติด เพราะเดิมจุดนี้มีรถที่เข้า-ออก จากซอยข้างวัดพันท้ายนรสิงห์ติดหนักเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ทั้งนี้โครงการปรับขยายทางช่วงนี้ ดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 2561 และมีกำหนดการแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. ปี 2563

บริเวณ กม.15 มีการลดช่องทางจราจรทำให้รถชะลอตัว

บริเวณ กม.15 มีการลดช่องทางจราจรทำให้รถชะลอตัว

บริเวณ กม.15 มีการลดช่องทางจราจรทำให้รถชะลอตัว

 

ถนนพระราม2 บริเวณหน้าวัดพันท้ายนรสิงห์ (บันทึกภาพ 11 ก.ค.62)

ถนนพระราม2 บริเวณหน้าวัดพันท้ายนรสิงห์ (บันทึกภาพ 11 ก.ค.62)

ถนนพระราม2 บริเวณหน้าวัดพันท้ายนรสิงห์ (บันทึกภาพ 11 ก.ค.62)

 

โครงการที่ 2 คือการก่อสร้างทางยกระดับพิเศษ ธนบุรี –ปากท่อ โดยพื้นที่ที่มีการตอกเสาเข็มอยู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ ก่อสร้างตั้งแต่บางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 10 กม. ทับซ้อนกับพื้นที่ที่มีการปรับขยายทางอยู่เดิม ซึ่งโครงการช่วงนี้มีกรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ จะแล้วเสร็จในปี 2564 ส่วนโครงการระยะต่อไป จะก่อสร้างตั้งแต่เอกชัยถึงบ้านแพ้ว มีบริษัทเอกชนร่วมลงทุน (PPP) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2564 และเสร็จปี 2566

ทั้งสองโครงการ เป็นโครงการก่อสร้างระยะยาวข้ามปี จึงทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เพราะถนนเส้นพระราม 2 เคยมีการก่อสร้างครั้งใหญ่ ตั้งแต่ปี 2535-2546 รวม 14 ปี จนถูกขนานนามว่า “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” และกลัวว่าการก่อสร้างครั้งนี้จะซ้ำรอย 

นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รักษาการวิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ สำนักแผนงาน กรมทางหลวง ยืนยันว่าการก่อสร้างรอบนี้จะไม่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ เพราะการก่อสร้างรอบนี้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ และปรับทางเพียง 11 กม. ส่วนการก่อสร้างทางยกระดับ กันพื้นที่ส่วนกลางไว้เพียง 5 เมตร และส่วนใหญ่ก่อสร้างด้านบน

ผมมั่นใจว่าไม่ซ้ำรอยแบบเดิม เพราะผู้รับจ้างมีประสิทธิภาพสูงและมีแผนก่อสร้างชัดเจน

คนทนมา 30 ปี ไม่ควรเพิ่มทุกข์

นายไพโรจน์ จิระบุญ อาจารย์พิเศษคณะสภาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รถติดจากการก่อสร้างเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งผู้รับผิดชอบโครงการสามารถจะบริหารจัดการได้ เพราะถนนพระราม2 ไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ และยังมีพื้นที่อีก 2 ฝั่งข้างทาง ที่กรมทางหลวงสามารถขอความอนุเคราะห์ หรือขอเช่าที่จากเอกชน เพื่อกองวัสดุก่อสร้างหรือบริหารพื้นที่โครงการ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหารถติด

 

ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้น เชื่อว่าไม่มีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า โดยเฉพาะการวิเคราะห์ลงไปในรายะเอียดระดับชุมชน

ถ้าผู้รับผิดชอบคิดซักนิดว่า ถ้าเป็นเราที่ต้องเผชิญกับสภาพนี้ เราคงเห็นวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง สภาพที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่สภาพนี้แน่นอน

อาจารย์คนเดิม กล่าวว่า การซ่อมสร้างถนนพระราม2 ไม่ใช่ครั้งแรก แต่มีการซ่อมสร้างนับไม่ถ้วน ซึ่งปัญหาเกิดจากความไม่ใส่ใจในรายละเอียด จนทำให้ชาวบ้านและผู้ใช้ถนนต้องทนรับสภาพนี้มา 30 ปี เมื่อนับรวมการซ่อมสร้างตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

ถ้านับรวมสมัยเจ็ดชั่วโคตร เกือบ 30 ปี คนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ไม่รู้เลยหรือว่าเขาทนมา 30 ปี ไม่ว่าจะเพิ่มเข้าไปเท่าไหร่ แต่มันเต็มปรี่มาแล้ว 30 ปี

 

สรุปแล้วปัญหานี้ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจระดับชาติ หรือคำสั่งของนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหา แต่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่กรมทางหลวง สามารถบริหารจัดการการก่อสร้างหน้างานเพื่อลดผลกระทบผู้ใช้รถใช้ถนนได้ทันที เพื่อลดผลกระทบให้กับชาวบ้านและผู้ใช้รถใช้ถนน

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มพื้นผิวถนน และการบริหารจัดการหน้างานก่อสร้าง แม้จะไม่ลดปัญหารถติดทั้ง 100 % แต่จะช่วยให้ปัญหารถติดเบาบางลงได้ และลดความขับข้องใจของชาวบ้าน เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ได้เห็นความพยายามในการแก้ปัญหา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง