"ผู้พิทักษ์ตัวน้อย" หนูไม่อยากเห็นพลาสติกในท้องวาฬ-เต่าทะเล

สิ่งแวดล้อม
31 ก.ค. 62
12:19
4,281
Logo Thai PBS
"ผู้พิทักษ์ตัวน้อย" หนูไม่อยากเห็นพลาสติกในท้องวาฬ-เต่าทะเล
ต้นแบบโรงเรียนปลอดขยะ "อนุบาลสุดารักษ์ บางเขน" ปลูกฝังการแยกขยะและลดใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านกิจกรรมเปลี่ยนขยะเป็นเงิน และนิทานรักษ์สิ่งแวดล้อม

ทุกเช้าวันจันทร์ อังคาร สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ผู้ปกครองเด็กอนุบาลโรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์ บางเขน จะจูงมือลูกหลาน พร้อมหิ้วถุงพลาสติกใส่ขยะที่ช่วยกันแยกมาจากบ้าน ทั้งขวดน้ำพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม กระดาษที่ใช้แล้ว และแกนกระดาษทิชชู ส่งต่อให้กับคุณครู และผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมตัวน้อย ที่ช่วยกันชั่งน้ำหนักขยะและจดบันทึกลงสมุด เปลี่ยนขยะเป็นรายได้ทุกภาคการศึกษา

 

ผู้ปกครองคัดแยกขยะมาขาย

ผู้ปกครองคัดแยกขยะมาขาย

ผู้ปกครองคัดแยกขยะมาขาย

 

แม้รายได้จะอยู่ในหลักร้อย แต่เด็ก ๆ และพ่อแม่ ก็ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการ ‘ธนาคารขยะ’ อีกทั้งช่วยฝึกวินัย การคัดแยกขยะ ลดใช้ถุงพลาสติก และคำนึงถึงผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตรอบตัว

 

 

น้องดีดี ชั้นอนุบาล 3/2 หนึ่งในผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม และจิตอาสาดูแลฐานกิจกรรมศูนย์การเรียนรู้ธนาคารขยะ เดินทางมาถึงโรงเรียนตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อช่วยครูชั่งน้ำหนักขยะและขนมารวมไว้เตรียมขาย พร้อมบอกว่า รู้สึกภูมิใจและสนุกกับกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้โรงเรียนสะอาดขึ้น

นนทินี ตรัยสิริรุจน์ ผู้ปกครองเด็กชั้นเตรียมอนุบาล และอนุบาล 3 เล่าว่า ครอบครัวเริ่มคัดแยกขยะ 2-3 เดือนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก กระป๋อง แก้ว กระดาษลัง จากเดิมที่คิดเพียงทิ้งขยะให้พ้นตัวไป

โครงการช่วยปลูกฝังเด็กและเห็นผลในระยะเวลาสั้นเพียงเดือนเดียว เพราะโรงเรียนจะสอนและเชื่อมโยงทุกอย่างกับสิ่งแวดล้อม เช่น นิทาน กิจกรรมเต้น การตัดล้างกล่องนมเอง เหมือนการฝึกวิถีชีวิตใหม่ และลามมาที่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทุกคนช่วยกันเก็บและคัดแยกขยะ อาจจะเสียเวลาเล็กน้อย แต่พบว่าขยะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนขยะสดจะนำไปทำปุ๋ยใส่ต้นไม้

เปลี่ยนวิถีชีวิตจริง ๆ เด็ก ๆ เริ่มรักในสิ่งแวดล้อม เขาจะห้ามที่บ้านไม่ให้หยิบถุงพลาสติกจากห้างสรรพสินค้า เป็นการปลูกฝังที่ดีและได้ผล

 

นนทินี เล่าว่า ลูก ๆ ของเธอมีความสุขและสนุกในการแยกขยะชนิดต่าง ๆ โดยจัดสรรสิ่งของบางส่วนที่ใช้ได้ไปบริจาค และอีกส่วนหนึ่งนำไปขายเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล รวมทั้งนึกถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเชื่อมโยงขยะที่พบบนท้องถนนว่าวันหนึ่งอาจจะไหลลงสู่แม่น้ำ หรือทะเล กลายเป็นสาเหตุทำให้ปลาและสัตว์ทะเลตายได้

เขาเห็นขยะ 1 ชิ้นบนถนน ก็จะบอกว่าเดี๋ยวจะมีปลาตาย เต่าทะเลตาย เราก็จะบอกว่าใช่ เวลาหนูไปไหนหนูก็อย่าทิ้งนะ

 

 

ขณะที่ ธวัชชัย เข็มเพ็ชร ผู้ปกครองเด็กอนุบาล 2 และอนุบาล 3 บอกว่า ลูกเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และรู้ถึงมูลค่าขยะบางประเภทที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ ประกอบกับฝึกให้ลูกมีวินัยในการคัดแยกขยะ ส่วนใหญ่จะเป็นถุงพลาสติก ขวด กระป๋องน้ำอัดลม และกล่องกระดาษ ซึ่งรายได้เป็นเรื่องของผลพลอยได้ เนื่องจากเป็นจำนวนเงินเดือนละ 300-400 บาท

ลูกชายอายุ 5-6 ขวบ เขากระตือรือร้น สนุกกับการคัดแยกขยะ โดยที่เราไม่ได้บังคับ


วาฬนำร่องครีบสั้นที่ตายจากการกินถุงพลาสติก 85 ชิ้น ถูกหยิบยกมาประกอบนิทานเล่าให้เด็ก ๆ ฟัง และให้ร่วมแสดงเป็นตัวละครต่าง ๆ ทั้งเต่าทะเล แมงกะพรุน ปลานีโม และลุงวาฬนำร่องครีบสั้น จนกระทั่งพวกเขาซึมซับและเข้าใจถึงผลกระทบจากเปลือกลูกอมเพียงชิ้นเล็ก ๆ ที่ทิ้งไม่เป็นที่เป็นทาง

 

นิทานรักษ์สิ่งแวดล้อม

นิทานรักษ์สิ่งแวดล้อม

นิทานรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

สุภัทรา วิลาวรรณ หรือครูอิ๋ว ครูประจำชั้นอนุบาล 2/3 เล่าถึงความร่วมมือกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมหลัก Zero Waste ขยะเหลือศูนย์ โดยมี 10 ฐานหลักประกอบการเรียนการสอนของเด็ก เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นผลกระทบจากขยะต่อสิ่งมีชีวิตรอบ ๆ ตัว เช่น ฐาน “นิทานแสนสนุก” ครูจะแต่งเพลง นิทาน คำคล้องจองมาประยุกต์ในกิจกรรม เน้นเรื่องของสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก รักษ์แม่น้ำ รักษ์ป่า, ฐานลงถังกินจุง ให้เด็กอนุบาล 1-3 ทดลองแยกขยะแต่ละประเภท

 

เด็ก ๆ ช่วยกันล้างกล้องนมและนำมาตากแดด

เด็ก ๆ ช่วยกันล้างกล้องนมและนำมาตากแดด

เด็ก ๆ ช่วยกันล้างกล้องนมและนำมาตากแดด

 

ฐานกล่องสร้างสุข เมื่อพ่อค้าคนกลางไม่รับซื้อกล่องนมแล้ว จึงมีแนวคิดให้เด็กช่วยกันตัดและล้างกล่องนมผ่านน้ำใน 3 กะละมัง เป็นการช่วยประหยัดน้ำ จากนั้นนำกล่องนมไปคว่ำตากแดด เพื่อบริจาคให้โรงเรียนที่ขาดแคลนใช้สร้างหลังคา โต๊ะ เก้าอี้, ฐานไส้เดือนดินรักษ์โลก กำจัดเศษอาหารด้วยการหมักทิ้งไว้ 14 วัน ส่วนมูลไส้เดือนจะนำไปใส่ต้นไม้ในโรงเรียน, ฐานถังหมักดินวิเศษ ใช้เศษอาหารและใบไม้แห้งหมักสลับชั้นกันเพื่อลดกลิ่น ใช้เวลา 2 เดือน จะได้ดินนำไปใส่ต้นไม้, ฐานธนาคารขยะ ที่ได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี เด็กจะบอกพ่อแม่ให้ช่วยกันคัดแยกขยะเพื่อนำมาขายทุกสิ้นเดือน ซึ่งทางโรงเรียนไม่ได้คาดหวังปริมาณ แต่เน้นความต่อเนื่องของกิจกรรม, ฐานคลังเศษวัสดุ นำฝาน้ำ แผ่นซีดี แกนกระดาษทิซชู กลับมาใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอน และฐานสมุนไพร ปลูกพืชผักในโรงเรียน นอกจากนี้ ทุกวันพุธจะมีกิจกรรม Green Wednesday ลดใช้ถุงพลาสติกและโฟม

 


เขาซึมซับจากสื่อตรงนี้ เช่น ถ้าเราทิ้งขยะลงน้ำจะเกิดมลภาวะต่าง ๆ ทำให้สัตว์น้ำได้รับความเดือดร้อนไปด้วย ลูกจะชักชวนแม่คัดแยกขยะ เขียนเรื่องราวและถ่ายรูปส่งให้ครูดู หรือไปเที่ยวทะเลก็ช่วยกันเก็บขยะ

การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste School) แห่งที่ 11 โรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์ และเป็นโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกของประเทศ ที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี 2561 ประเภทโรงเรียนปลอดขยะ ระดับประถมศึกษา

 

นิทานรักษ์สิ่งแวดล้อม

นิทานรักษ์สิ่งแวดล้อม

นิทานรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

สลิลดา ทศานนท์ ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์ บางเขน เชื่อว่า ขยะเป็นเรื่องใกล้ตัว และการปลูกฝังตั้งแต่เด็กจะช่วยซึมซับสิ่งที่ดีจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันต่อไปในอนาคต โดยเริ่มลองปรับกิจวัตรประจำวันของโรงเรียน เช่น กิจกรรมคัดแยกขยะ ลดใช้ขยะ และนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

 

สลิลดา ทศานนท์ ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์ บางเขน

สลิลดา ทศานนท์ ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์ บางเขน

สลิลดา ทศานนท์ ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์ บางเขน

 

แม้ช่วงแรกจะมีคำถามจากครูและบุคคลากรทางการศึกษาว่า การปลูกฝังเรื่องดังกล่าวเหมาะสมกับช่วงวัยและเด็กจะเข้าใจหรือไม่ รวมทั้งผู้ปกครองที่อาจยังไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงให้เด็กเล็กคัดแยกขยะ ต่อมาเมื่อกิจกรรมต่าง ๆ เห็นผลเป็นรูปธรรม จึงได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกคนเกี่ยวข้อง ช่วยลดใช้ถุงพลาสติกและหันมาใช้ถุงผ้า

เด็กอนุบาลก็ทำได้ ขึ้นอยู่ว่าเราปรับใช้สื่ออะไรกับเขา โครงการนี้แทบไม่มีต้นทุน เพราะกิจกรรมส่วนใหญ่มาจากกิจวัตรประจำวัน คัดแยกขยะนำไปขาย สร้างรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย

 

ฐานถังหมักดินวิเศษ

ฐานถังหมักดินวิเศษ

ฐานถังหมักดินวิเศษ

 

ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบัน พบว่าปริมาณขยะลดลงถึงร้อยละ 80 แต่โรงเรียนตั้งเป้าให้ขยะเป็นศูนย์ ถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งและต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาปรับใช้ ขณะที่สมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ นำคณะเข้ามาดูงานกว่า 20 โรงเรียน ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา เพราะพิสูจน์แล้วว่าเด็กอนุบาลสามารถช่วยลดขยะได้จริง และพวกเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีหัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง