Insight : ชนวนเหตุเกาหลีเหนือไม่ร่วมประชุม ARF

Logo Thai PBS
Insight : ชนวนเหตุเกาหลีเหนือไม่ร่วมประชุม ARF
การประชุมอาเซียนที่จัดขึ้นว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ARF ในปีนี้ ไร้เงาของรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ

วันนี้ (2 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการจัดการประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ARF ในปีนี้ ไร้เงาของรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ ที่เคยเข้าร่วมการประชุมไม่ขาดในระยะหลัง ตั้งคำถามว่าประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือทั้ง 3 ครั้งในรอบ 8 วันหรือไม่


ทั้ง 2 เหตุการณ์อาจกำลังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจของการซ้อมรบร่วมสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ในเดือนนี้อย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
ดูเหมือนว่าอุณหภูมิทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะกลับมาร้อนระอุอีกครั้ง หลังจากเกาหลีเหนือจัดการยิงทดสอบขีปนาวุธ 3 ครั้ง ในเวลาเพียง 8 วัน


การทดสอบเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.2562 วันที่ 31 ก.ค.2562 และครั้งล่าสุดเมื่อช่วงเช้ามืดวันนี้ 2 ส.ค.2562 โดยใช้ขีปนาวุธอย่างน้อย 2 ลูก ในการยิงทดสอบแต่ละครั้ง 

การยิงทดสอบขีปนาวุธสร้างความกังวลให้เกาหลีใต้ถึงขั้นเรียกประชุมฉุกเฉินรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่ทำเนียบประธานาธิบดีอย่างเคร่งเครียด สวนทางกับท่าทีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่ดูผ่อนคลายและไม่กังวลใจต่อการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือหลายระลอก ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา


ชนวนของการโหมทดสอบขีปนาวุธคืออะไร? ย้อนกลับไปช่วงกลางเดือนกรกฎาคม เกาหลีเหนือ เตือนว่า การซ้อมรบร่วมประจำปีสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ ในเดือนนี้ ไม่ต่างจากการเตรียมตัวทำสงคราม แต่ท่าทีแข็งกร้าวของเกาหลีเหนือเหมือนจะใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ ยืนยันว่า ทั้ง 2 ประเทศ ไม่มีแผนที่จะยุติการซ้อมรบร่วมประจำปี

 

ความตึงเครียดเกิดในจังหวะเดียวกับการที่เกาหลีเหนือไม่ยอมส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง ARF ในวันนี้


สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามว่าทั้ง 2 เหตุการณ์เกี่ยวข้องกันหรือไม่?...ถ้ามองในมุมของเกาหลีเหนืออาจมองได้ 2 เหตุผล

เหตุผลแรกคือไม่พอใจการซ้อมรบร่วม นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังทำตัวเป็นภัยคุกคามเกาหลีเหนืออีก ด้วยการรับมอบเครื่องบินล่องหน F-35 ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย จำนวน 3 ลำจากสหรัฐฯ ในเวลาเพียง 4 เดือน

เหตุผลต่อมา คือ เกาหลีเหนือยังไม่พร้อมเจรจากับสหรัฐฯ เพราะยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จึงสั่งการให้ทูตเกาหลีเหนือประจำประเทศไทยเข้าร่วมแทน


ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนมองว่า การซ้อมรบร่วมประจำปียังคงมีความจำเป็น เนื่องจากเกาหลีเหนือยังไม่ยอมแสดงความชัดเจนเกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ให้เห็น


หันกลับมามองในมุมของสหรัฐฯ บ้าง เนื่องจากการยอมทำตามความพอใจของเกาหลีเหนือทุกอย่าง แทบไม่มีทางเป็นไปได้เลย ในบรรยากาศความสัมพันธ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ทำให้เมื่อตัดภาพจับมือทักทายของคิม จอง-อึน กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจดูมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันออกไป ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าความสัมพันธ์อื่นๆ แทบไม่คืบหน้าเอาเสียเลยครับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง