เอกชนพบแบงก์ชาติ 8 ส.ค.แก้บาทแข็ง

เศรษฐกิจ
7 ส.ค. 62
14:24
345
Logo Thai PBS
เอกชนพบแบงก์ชาติ 8 ส.ค.แก้บาทแข็ง
คณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน เตรียมหารือแบงก์ชาติดูแลผลกระทบเงินบาทแข็งค่า ขณะที่แบงก์ชาติเผยแพร่บทวิจัยส่งออก พร้อมปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25

วันนี้ (7 ส.ค.2562) นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบันว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการที่สหรัฐฯ เตรียมจะขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 10 ต่อสินค้ากับประเทศจีน วงเงิน 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่จีนได้ปรับค่าเงินหยวนอ่อนค่าหลุดระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 11 ปี

ซึ่งกังวลว่าจะนำไปสู่มาตรการเพิ่มเติมจากฝั่งสหรัฐฯ และส่งผลให้สงครามการค้ามีความเสี่ยงที่รุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังมีปัญหาจาก Brexit ส่งผลต่อแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอยู่แล้ว ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ผันผวน ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากปัจจุบันที่ค่าเงินบาทแข็งค่าแล้วร้อยละ 5.9 ซึ่งเป็นอัตราที่แข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ กลายเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี

 

กกร.จะขอติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องอีกครั้งในช่วง 3 เดือนหลังจากนี้ หากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น มีโอกาสที่ส่งออกไทยจะติดลบมากกว่าร้อยละ 1

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางเดียวที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง รัฐบาลจะต้องหาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ระยะกลาง

จะเป็นมาตรการที่กระตุ้นการบริโภคในประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย จะเป็นรูปแบบใดก็ได้ รวมถึงมาตรการทางภาษี เช่น มาตรการทางด้านการเกษตร อสังหาฯ หรือมาตรการภาษี ขณะนี้อยากให้รัฐบาลเร่งออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง

ขณะเดียวกันยังต้องการให้รัฐบาลเร่งผลักดันการอำนวยความสะดวกในการลงทุน หรือ doing Business เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ

ส่วนปัญหาการเมืองในประเทศหลังเกิดเหตุระเบิด นายสุพันธุ์ มองว่า ขณะนี้รัฐบาลสามารถจับผู้กระทำความผิดได้ ก็จะส่งผลดีและเชื่อว่าจะเป็นผลทางจิตวิทยาสั้นๆ เหตุการณ์ไม่น่าจะต่อเนื่อง


ขณะที่ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 ส.ค.นี้ กลุ่มสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและทางสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ จะเดินทางไปพบกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหารือถึงอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในระดับนี้ว่าจะมีทิศทางดูแลอย่างไร เพื่อไม่ให้การส่งออกของไทยปรับลดลง และการผลักดันการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเป็นการซื้อขายในรูปของเงินบาท เพื่อลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน

นอกจากนี้ ในวันที่ 9 ส.ค.และวันที่ 14 ส.ค.จะเดินทางไปพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนชุดเล็ก (กรอ.) เพื่อหาแนวทางมาตรการกระตุ้นการส่งออกและการค้าชายแดนที่จะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรก ติดลบร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นผลจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และบรรยากาศการค้าโลกที่ซบเซาเป็นสำคัญ

 

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่บทวิจัยการค้า การส่งออกและค่าเงินบาท โดยมีเนื้อหาระบุว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกของประเทศส่วนใหญ่ในครึ่งปีแรกติดลบ แม้ว่าสกุลเงินของประเทศนั้นจะอ่อนค่า เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่การส่งออกครึ่งปีแรกติดลบร้อยละ 8.5, ติดลบร้อยละ 3.4, ติดลบร้อยละ 12.8 ตามลำดับ แม้สกุลเงินของทั้ง 3 ประเทศอ่อนค่าลงร้อยละ 6.9, ร้อยละ 2.4, ร้อยละ 0.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับต้นปี

 

ด้านผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2562 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.75 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าที่หดตัวและเริ่มส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง