ผู้ว่าการธปท.ย้ำความอิสระ หลังตั้งคณะทำงานร่วมรัฐบาล

เศรษฐกิจ
13 ส.ค. 62
12:09
367
Logo Thai PBS
ผู้ว่าการธปท.ย้ำความอิสระ หลังตั้งคณะทำงานร่วมรัฐบาล
ผูัว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ย้ำแบงก์ชาติ มีความเป็นอิสระ หลังตั้งคณะทำงานร่วมรัฐบาล ติดตามสถานการณ์สงครามการค้า และความผันผวนเศรษฐกิจโลก

วันนี้ ( 13 ส.ค.2562) นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างแบงก์ชาติ กับ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามข้อเสนอของแบงก์ชาติ ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วที่ต้องการมีคณะกรรมการกลาง หน่วยงานกำกับการเงินทุกระดับ ตั้งแต่ธนาคารพาณิชย์ สถาบันเฉพาะกิจของรัฐ สถาบันการเงินนอกกำกับดูแลของแบงก์ชาติ ธุรกิจประกัน  ตลาดทุน และกลุ่มการเงินในสหกรณ์เพื่อเพิ่ม​ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ นโยบายใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ทักษะทางการเงิน หรือ financial stability โดยไม่มีผลต่อการชี้นำความเห็นในคณะกรรมการนโยบายการเงินซึ่งยังคงเป็นอิสระตามเดิมตามเดิม ส่วนที่เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ขณะนี้ เป็นคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งที่หน้าที่แลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี จึงต้องแยกกันระหว่าง 2 คณะกรรมการ ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

การตั้งคณะกรรมการด้าน financial stability เป็นข้อเสนอของแบงก์ชาติ ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว และไม่มีผลต่อการตัดสินใจของ กนง.ซึ่งยังคงมีความเป็นอิสระ แต่การนำเสนอของสื่ิอทำให้เกิดความสับสน เพราะมีคณะทำงานอีกชุดที่ร่วมกันพิจารณาสถานการณ์สงครามการค้า

แต่อาจเกิดความสับสนจากการนำเสนอของสื่อมวลชน เพราะแบงก์ชาติ ยังมีคณะทำงานอีกคณะกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและรับมือผลกระทบจากสงครามการค้า และความผันผวนในเศรษฐกิจโลก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ กนง.เช่นกัน

 

 

ส่วนมติ กนง.ล่าสุดที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลงร้อยละ 0.25 ที่ระดับร้อยละ 1.5 ต่อปี ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ชี้แจงว่า คณะกรรมการฯ พิจารณาตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การส่งออก และเงินเฟ้อ ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งอาจกระทบการจ้างงาน แต่ กนง.ยังคงให้ความสำคัญต่อการดูแลเสถียรภาพการเงินในระบบ และติดตามผลจากการออกมาตรการลดการเก็งกำไรค่าเงิน ซึ่งลดเพดานวงเงินบัญชีต่างประเทศถือครองในสถาบันการเงินไทย และแจ้งชื่อเจ้าของเงินตัวจริง ซึ่งได้ผลเป็นที่พอใจระดับหนึ่ง แต่ยังคงติดตามเพื่อ​พิจารณาออกมาตรการกำกับเสถียรภาพค่าเงินหากจำเป็น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 ส.ค.62)​ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะเดินทางเข้าพบผู้ว่าการแบงก์ชาติ ในเวลา 15.00 น. เพื่อขอให้ดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเกินไปกว่า 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัว

 

ขณะที่สถานการณ์ชุมนุมประท้วงบนเกาะฮ่องกง ทำให้หนึ่งในผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมายอมรับว่า ปัญหาดังกล่าวกระทบค่าเงินหยวนทำให้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง 2 วัน แต่ยังไม่กระทบการค้ากับไทย เนื่องจากยังไม่กระทบการกำหนดราคาขาย ซึ่งมีการทำสัญญาตกลงล่วงหน้า อีกทั้งผู้ส่งออก​สามารถเลือกใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือ เงินหยวนได้ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยง และความตกลงของ 2 ฝ่าย

ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเพียง 2 วัน ยังไม่มีผลต่อการค้าแต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้​อยู่ที่ระดับ 30.81 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.72 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐและในวันพรุ่งนี้(14 ส.ค.) กระทรวงพาณิชย์จะหารือกับภาคเอกชน เวทีคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน หามาตรการรับมือสงครามการค้าสหรัฐฯและจีนที่ยืดเยื้อโดยเฉพาะจับตาสินค้าที่จะทะลักเข้าไทย เบื้องต้นยังไม่มีสินค้าจีนไหลเข้ามาผิดปกติ

 

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะระดมความคิดเห็นข้อเสนอแนะปัญหาและอุปสรรคด้านการส่งออก รวมถึงผลักดันให้การส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้ และออกเตรียมมาตรการที่จะมารองรับปัญหาสงครามการค้า โดยเฉพาะต้องจับตาสินค้าจากประเทศจีนที่จะทะลักเข้ามาในไทยและอาเซียน เพื่อไม่ให้กระทบกับสินค้าประเทศ ปัจจุบันไทยมีกฎหมายในการป้องกันสินค้าทุ่มตลาดอยู่แล้ว ซึ่งหากพบว่ามีสินค้าที่ไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากเกินความจำเป็นและกระทบต่อสินค้าไทยก็สามารถจะประกาศใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือ Safeguard 

นอกจากนี้ จะดูผลจากนโยบายการเงินของไทย หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 จะส่งผลอย่างไร และการดูแลค่าเงินบาท

แต่ยืนยันว่ากระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกไปนี้เติบโตร้อยละ 3 เพราะต้องรอดูสถานการณ์สงครามการค้าช่วง 4-5 เดือนข้างหน้า หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย รวมถึงจะเร่งเพิ่มยอดการส่งออก โดยการรักษาตลาดเดิมการขยายตลาดสู่ตลาดใหม่ ๆ และการฟื้นฟูตลาดเก่า เช่น อิรัก ที่ไทยเป็นตลาดค้าข้าวไทย ก็จะกลับไปดูทำตลาดเพื่อฟื้นฟูให้กลับมาค้าขายกันอีก

ส่วนปัญหาความไม่สงบในประเทศฮ่องกงเชื่อว่าจะเป็นสถานการณ์ระยะสั้น และไม่มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยและฮ่องกง เพราะจากที่ติดตามสายการบินเริ่มกลับมาให้บริการตามปกติและระบบการขนส่งสินค้าอื่น ๆ ยังสามารถขนส่งได้ ซึ่งฮ่องกงถือว่าเป็นประตูทางด้านการค้าของไทยหรือเกตเวย์สู่ในหลายประเทศ เช่น จีน



ข่าวที่เกี่ยวข้อง