มองโกเลีย เล็งใช้ "ถุงเพาะชำชีวภาพ" จากไทยพลิกฟื้นทะเลทราย

สิ่งแวดล้อม
16 ส.ค. 62
10:51
5,015
Logo Thai PBS
มองโกเลีย เล็งใช้ "ถุงเพาะชำชีวภาพ" จากไทยพลิกฟื้นทะเลทราย
ปลัด ทส.ชื่นชมนักวิจัยรุ่นใหม่ ม.สงขลานครินทร์ มีไอเดียใหม่ผลิตถุงเพาะชำกล้าไม้จากยางพารา ที่ย่อยสลายเองตามธรรมชาติแถมใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้ เพื่อแก้ปัญหายางพาราราคาตก ขยะพลาสติกล้น โดยจีน และมองโกเลีย ติดต่อขอนำไปใช้ที่โครงการปลูกป่าฆ่าทะเลทราย

วันนี้ (16 ส.ค.2562) นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ขณะนี้นายณัฐวี บัวแก้ว และน.ส.กุลธิดา เกตุแก้ว นักวิจัยรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้ทดลองผลิตยางพารา เป็นวัสดุในการทำถุงเพาะชำชีวภาพ ย่อยสลายได้โครงการดังกล่าวโดยได้รับการสนับสนุนจาก ดร.จงโปรด คชภูมิ จากบริษัท บางจาก คอร์ปอเร ชั่นจำกัด (มหาชน) โดยมีแนวคิดจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และปัญหาขยะพลาสติก

นักศึกษาจึงได้ทดลองนำยางพาราที่ผ่านการปรับปรุงสูตรให้เหมาะสมต่อการใช้เป็นถุงเพาะชำกล้าไม้ ทั้งสภาพที่คงทน การคงรูปของถุงเพาะชำ โดยสูตรที่คิดค้นขึ้นและจากการทดลองสามารถทำให้ถุงเพาะชำย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ โดยไม่ทิ้งสารพิษตกค้างไว้ในดิน จึงเป็นการช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากถุงเพาะชำเดิม และส่งเสริมให้เกษตรกรได้ลดต้นทุนในการผลิต ประหยัดแรงงาน รวมถึงการรักษารากของกล้าไม้ที่เกิดจากการขนย้ายกล้าไม้อีกด้วย

ภาพ:เฟชบุ๊ก wijarn simachaya

ภาพ:เฟชบุ๊ก wijarn simachaya

ภาพ:เฟชบุ๊ก wijarn simachaya

ปัจจุบัน ผลงานดังกล่าวของนักวิจัยได้รับความสนใจจากต่างประเทศ โดยประเทศจีน และมองโกเลีย ได้ติดต่อขอนำถุงเพาะชำกล้าไม้จากยางพาราไปใช้ในโครงการปลูกป่า ฆ่าทะเลทราย โดยคุณสมบัติที่อุ้มน้ำได้ดีและมีความคงทน สภาวะแห้งแล้ง

นอกจากนี้ยังโดยอยู่ระหว่างการปรับปรุงสูตร เพื่อให้ถุงเพาะชำใช้ได้ทนต่อทุกประเภทของกล้าไม้ และพื้นที่ในการปลูกต้นไม้ รวมถึงสามารถใส่ปุ๋ยลงในถุงเพาะชำเพื่อบำรุงกล้าไม้ได้อีกด้วย โดยจะมีความร่วมมือในการทดสอบเพิ่มเติมในเรือเพาะชำของ ทส.ในพื้นที่สงขลา

ข้อดีของถุงเพาะชำที่ผลิตขึ้นคือ สามารถย่อยสลายได้ และผสมสารอาหารที่เป็นแร่ธาตุให้กับพืช N P และ K ที่อยู่ในถุงย่อยสลายได้ก็จะกลายเป็นปุ๋ย 

 

ภาพ:เฟชบุ๊ก wijarn simachaya

ภาพ:เฟชบุ๊ก wijarn simachaya

ภาพ:เฟชบุ๊ก wijarn simachaya

 

พลิกวิกฤตเป็นโอกาสแปรรูปยางเพิ่มมูลค่า 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายณัฐวี กล่าวว่า แนวคิดที่คิดทำถุงเพาะชำกล้าไม้ที่ย่อยสลายได้ เพราะเป็นลูกชาวสวนยาง เห็นครอบครัวเจอวิกฤตราคาตกต่ำ เลยอยากจะช่วยหาทางออกในการแปรรูปนอกจากนี้ยังมองเรื่องกระแสของการลดขยะ รวมทั้งมองว่าของที่จะทำขึ้นจากยางพารา จะต้องเป็นของคนใช้เยอะ เป็นนวัตกรรมที่หมุนเวียนกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อลดต้นทุน จึงทำถุงเพาะชำกล้าไม้

ยอมรับว่าความรู้เรื่องยางเป็นศูนย์ เพราะว่าเรียนจบทางด้านวิศกรรมศาสตร์ แต่ได้ช่วยเหลือจากอุทยานวิทยาศาสตร์ ใช้เวลาเกือบ 1 ปี โดยมีผศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ที่เชี่ยวชาญด้านพอลิเมอร์ กระทั่งประสบความสำเร็จผลิตถุงเพาะชำย่อยสลายจากยางพารา ซึ่งได้ยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว

นายณัฐวี กล่าวว่า จุดเด่นของนวัตกรรมนี้ เนื่องจากเป็นถุงที่ย่อยได้ในธรรมชาติ ข้อดีคือมีสารอาหาร N P และ K ที่อยู่ในถุง และเมื่อถุงย่อยสลายได้ก็จะกลายเป็นปุ่ย โดยมีการผลิตเป็นถุงขนาด 3X4 และ 4x6 โดยช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีเอกชนจากจีน ทดลองนำถุงเพาะชำนี้ไปใช้งานในพื้นที่ปลูกต้นไม้ในทะเลทรายเขตพื้นที่มองโกเลีย รวมทั้งตัวเองก็กำลังพัฒนาปรับปรุงสูตรเพิ่มเติม รวมทั้งปรับขนาดถุงให้รองรับกับต้นไม้แต่ละชนิดได้มากขึ้น 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นถนน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง