วันนี้ (16 ส.ค.2562) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า หลังจากย้ายพะยูนมาเรียมมาอยู่ที่บ่อพักฟื้นชั่วคราว ริมฝั่งบนเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ที่มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับรองรับ พบว่าขณะนี้อาการดีขึ้น ตอบสนองยาฆ่าเชื้อได้ดี อัตราการเต้นของหัวใจดีขึ้น และกินอาหารได้ดีขึ้น เนื่องจากทีมสัตวแพทย์และอาสาสมัคร ระดมกำลังช่วยเหลืออย่างเต็มที่เพื่อดูและอาการ ควบคุมระบบน้ำ และอุณหภูมิน้ำในบ่อพักฟื้นชั่วคราว
ส่วนแผนสำรองเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายมาเรียมมารักษาในบ่อพยาบาลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิวิชัย วิทยาเขตตรัง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมบ่ออนุบาลสัตว์ทะเล จำนวน 2 บ่อ คือบ่อแปดเหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 เมตร และบ่ออนุบาลขนาดใหญ่รวมทั้งมีระบบน้ำไหลเวียน เพื่อรองรับการอนุบาลมาเรียม รวมทั้งได้เตรียมพร้อมบุคลากรรับมืออย่างเร่งด่วนนั้น อธิบดี ทช. ระบุว่าเป็นเพียงแผนสำรองที่เตรียมพร้อมไว้ แต่ยังไม่เคลื่อนย้ายมาเรียมในเร็ว ๆ นี้

ภาพ : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภาพ : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดูแลมาเรียมใกล้ชิด 24 ชม.
ขณะที่นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง รายงานว่า เมื่อวานนี้ (15 ส.ค.) เจ้าหน้าที่เขตฯ ลิบง ร่วมกับสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ทช. สัตวแพทย์กองทัพเรือ จิตอาสา และกลุ่มพิทักษ์ดุหยง เฝ้าติดตามอาการของมาเรียม ตลอด 24 ชม. พบว่าอาการมาเรียมทรงตัว และเจ้าหน้าที่ได้ซ่อมท่อน้ำไว้สูบเข้าบ่อที่โดนคลื่นซัดจนแตกจนใช้งานได้ตามปกติ ด้านสุขภาพทั่วไป มาเรียมมีน้ำหนัก 31 กิโลกรัม ความยาวลำตัว 121 เซนติเมตร ความยาวรอบอก 75.5 เซนติเมตร พฤติกรรมและการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม มีอาการซึมและการตอบสนองเล็กน้อย ร่างกายมีภาวะการแห้งน้ำมาก มีอาการเรอและผายลมเป็นระยะ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ พบภาวะติดเชื้อเนื่องจากค่าเม็ดเลือดขาวรวมสูงขึ้น ค่าเคมีเลือดอยู่ในระดับปกติ อัตราการหายใจเฉลี่ย 4 ครั้งต่อนาที อัตราการเต้นของหัวใจ 80 ครั้งต่อนาที การเต้นของหัวใจขณะพักผ่อน 104 ครั้งต่อนาที

ภาพ : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภาพ : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระดมทีมช่วย "มาเรียม" ติดเชื้อในกระแสเลือด-ปอดอักเสบ
แท็กที่เกี่ยวข้อง: