"อรรถจักร์" ซัดยุทธศาสตร์ชาติ เอื้อทุนใหญ่ เพิ่มเหลื่อมล้ำ

การเมือง
23 ส.ค. 62
15:53
11,275
Logo Thai PBS
"อรรถจักร์" ซัดยุทธศาสตร์ชาติ เอื้อทุนใหญ่ เพิ่มเหลื่อมล้ำ
"อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์" ชี้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สร้างอำนาจกลุ่มทุนใหญ่ เน้นนโยบายประชานิยม ส่งผล ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น กระทบวิถีชนบทรุนแรง นักวิชาการแนะรัฐควรเน้นนโยบายที่หลากหลาย ไม่ใช่ Universal Packet ที่ไม่ตอบสนองความต้องการชุมชน

วันนี้ (23 ส.ค.2562) ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวตอนหนึ่งในบรรยายพิเศษเรื่องความเปลี่ยนแปลงในชนบทกับทิศทางที่ควรจะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยระบุว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แยกไม่ออกจากการต่อสู้ทางการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และการทำรัฐประหาร ของ คสช. ซึ่งถือเป็นการจัดความสัมพันธ์แบบของอำนาจใหม่ ที่พยายามประสาน หลอมรวมกลุ่มต่างๆ มาไว้อยู่ด้วยกัน

ศ.อรรถจักร์ กล่าวอีกว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี สะท้อนชัดเจนถึงความพยายามปกป้อง และโอบอุ้มกลุ่มทุนใหญ่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลพึ่งพากลุ่มทุนผ่านนโยบายประชารัฐ ซึ่งพบว่า มีกลุ่มทุนใหญ่ให้การสนับสนุนไม่น้อยกว่า 25 กลุ่มทุน รูปแบบนี้จึงถูกเรียกว่า “รัฐบรรษัท” ส่งผลให้ในอนาคต “กลุ่มทุนจะกลายเป็นผู้กุมอำนาจรัฐ”ส่วนรัฐบาลกุมอำนาจเพียงด้านความมั่นคง

ดังนั้น การที่ยุทธศาสตร์ชาติ สนับสนุนให้กลุ่มทุนเติบโต ก็เท่ากับการพัฒนาทุนนิยมไทย ทำให้จากนี้ระบบอุปถัมภ์จะเข้มแข็งขึ้น ประชานิยมจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้กระทบกับวิถีชนบท อย่างรุนแรง

 

ประชานิยมยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำสูง

ศ.อรรถจักร์  กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงกระทบต่อชาวบ้านชัดเจน คือ วิถีการทำเกษตรกรรม เพราะเมื่อพวกเขาเข้าสู่การทำเกษตรภายใต้ระบบทุน วิถีดั้งเดิมก็เปลี่ยนไป ชาวบ้านซึ่งมีที่ดิน พื้นที่ปลูกพืชจำนวนมากจะเป็นผู้ถูกเลือกให้เข้าสู่ระบบ เพราะสามารถป้อนผลผลิตให้กับทุนได้มาก ส่งผลให้ชาวบ้านกลุ่มนี้มีรายได้ และยกฐานะที่ดีขึ้น ตรงกันข้ามกับชาวบ้านที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบ จะไม่ถูกพัฒนา ไม่สามารถรวมกลุ่มกันต่อรอง ไม่มีตลาดรับซื้อสินค้าเกษตร ที่สำคัญคือถูกปล่อยให้เคว้งคว้าง มีหนี้สิน

ความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้ถูกแก้ คนจนจะยิ่งทุกข์หนักกว่าเดิม จากระบบที่กลุ่มทุนใหญ่เข้ามามีอำนาจมากขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี จึงอยากให้ชุมชน รวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อสร้างอำนาจต่อรองที่เข้มแข็ง

 

 

ชาวบ้านไม่มีอำนาจต่อรอง-ข้อจำกัดทางปฏิบัติ

ขณะที่ ผศ.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า นโยบายที่ผ่านมาของรัฐบาลในรอบ 10 กว่าปี ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และการรัฐ ประหาร พบว่า เน้นไปที่การทำประชานิยมที่ไม่ต่างกัน รูปแบบนี้ ชี้ให้เห็นการหวังผลทางการเมืองที่เน้นหนักไปที่กลุ่มชาวบ้านตามชนบท แสดงให้เห็นว่า ชนบทยังถือเป็นพื้นที่ระดมการสนับสนุนทางการเมือง ผ่านนโยบายต่าง ๆ ที่ทำให้การใช้ชีวิตของคนในชนบทเปลี่ยนไป เน้นการหวังพึ่งแต่นโยบายรัฐเท่านั้น

โดยยกตัวอย่างโครงการช่วยเหลือเยียวยาพืชผลการเกษตร โครงการประกัน และจำนำข้าว โครงการจำนำยุ้งฉาง โครงการปรับเปลี่ยนพืชเพาะปลูก ดูเหมือนว่าแทบทุกโครงการ มีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ และบางครั้งโครงการเหล่านี้ไม่ลงไปสู่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น การกำหนดให้ผู้ได้รับเยียวยาผลกระทบที่มีต่อพืชผลทางการเกษตร ต้องเป็นเจ้าของที่ดิน

สำหรับชาวบ้านที่เช่าที่ดินทำกิน ก็ต้องของสำเนาโฉนดที่ดินจากเจ้าของมายื่นขอรับการสนับสนุน บางกรณีเจ้าของที่ดินก็ใช้ช่องทางนี้รับผลประโยชน์แทน จึงกลายเป็นโครงการภาครัฐไปสร้างพลังต่อรองให้กับเจ้าของที่ดิน กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางนโยบาย ชาวบ้านที่เดือดร้อนกลับติดข้อจำกัดไม่ได้รับการช่วยเหลือ

 

 

นโยบายรัฐควรเน้นให้มีความหลากหลาย ไม่ใช่เน้นแบบ Universal Packet ที่ไม่ตอบสนองความต้องการของชุมชน หลายโครงการเน้นการแจกเงินมาเป็นก้อนๆ ผ่านกองทุนให้ชาวบ้านไปต่อยอดเพื่อประกอบอาชีพ แต่ก็ทำไม่สุด เพราะยึดติดกับระบบราชการ

การสนับสนุนตามงบประมาณ ปีไหนที่ถูกตัด ชาวบ้านก็ไปต่อไม่เป็น เพราะไม่มีงบลงทุน ลักษณะแบบนี้ไม่ช่วยให้ชาวบ้านได้ปรับตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว ดังนั้นการส่งเสริมให้ชาวบ้านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และไปได้ไกล รัฐต้องเปิดใจ ไม่ใช่การครอบงำ

สำหรับโครงการการประชุมทางวิชาการระดับชาติ "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี : จุดเริ่มหรือจุดจบของภาคชนบทไทย" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 ส.ค.นี้ ที่ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีการแบ่งหัวข้อนำเสนอกลุ่มงานวิจัยเป็นห้องย่อยตามหัวข้อต่าง ๆ เช่น การขับเคลื่อนชุมชน ด้วยองค์ความรู้ และพลังชุมชน, ปรับตัว เปลี่ยนแปลง เพื่อให้มีแรงอยู่ได้, แนวคิด กลไก บทเรียน เพื่อก้าวใหม่ของการเปลี่ยน แปลงท้องถิ่น เป็นต้น มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่การพัฒนาอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ผ่านงานวิชาการ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง