เปิดปม : พิรุธไฟป่าพรุควนเคร็ง

สิ่งแวดล้อม
4 ก.ย. 62
11:41
1,936
Logo Thai PBS
เปิดปม : พิรุธไฟป่าพรุควนเคร็ง
เพียงปีเดียว ป่าพรุควนเคร็งเกิดไฟไหม้มากกว่า 80 ครั้ง จนนำมาสู่คำถามว่า ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์จากไฟป่าครั้งนี้

เชื่อฝีมือคนเผา แม้ผู้ลงมือยังล่องหน

ข้อมูลจากระบบติดตามจุดความร้อนด้วยดาวเทียม กรมป่าไม้ ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. ถึง 27 ส.ค. 2562 พบจุดความร้อนไฟป่าพรุควนเคร็งทั้ง 194 จุด แบ่งเป็นเกิดในพื้นที่เกษตรกรรม 96 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 79 จุด และพื้นที่ป่าสงวน 19 จุด

 

จากแผนที่ เห็นได้ว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นกระจายในหลายอำเภอที่อยู่ห่างกันออกไปหลายสิบกิโลเมตร นายอรรถพล เจริญชัณษา อธิบดีกรมป่าไม้ จึงเชื่อว่า ไฟป่าพรุในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

ไฟตามธรรมชาติในป่าพรุจะเกิดขึ้นได้ในกรณีเดียวคือ เกิดจากกระบวนการย่อยสลายจนเกิดแก๊สและความร้อน จนเกิดการสันดาปและลุกกลายเป็นไฟ ซึ่งตามธรรมชาติของป่าพรุที่นี่เกิดขึ้นได้น้อยมากที่เราตั้งข้อสงสัยว่าเป็นฝีมือของคนเพราะว่า หลายจุดเป็นต้นเพลิงไม่ได้เกิดจากการกระจายลุกลามของเปลวไฟที่เกิดขึ้นเดิม ประเด็นสำคัญคือมีพยานรู้เห็น และมีเจ้าหน้าที่พบเห็นกลุ่มบุคคลเข้าไปดำเนินการ เราเลยสงสัยว่า น่าสงสัยว่าน่าจะเกิดน้ำมือมนุษย์

ป่าพรุควนเคร็งมีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมด 4 แห่งได้แก่ป่าสงวนแห่งชาติบ้านในลุ่ม – ป่าบ้านกุมแป ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองค๊อง ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าช้างข้าม และ ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอนทรายและป่ากลอง

การบุกรุกและครอบครองที่ดิน การอ้างสิทธิการครอบครองที่ดิน รวมทั้งการกันพื้นที่อนุรักษ์เป็นเขตปฏิรูปที่ดินทำให้ป่าพรุควนเคร็งสูญเสียพื้นที่อยู่ตลอดเวลา

ที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้รุกล้ำพื้นที่เขตป่าสงวนอยู่บ่อยครั้ง เพราะเขตป่าสงวนส่วนใหญ่อยู่ติดกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านที่เสียประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟป่าได้ เช่น ตั้งใจเผาป่าเพื่อกดดันเอาคืนเจ้าหน้าที่

ในมุมมองของอธิบดีกรมป่าไม้ เชื่อว่า ชนวนความขัดแย้งดังกล่าวเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟป่าพรุควนเคร็วในหลายจุด แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องระหว่างคนไม่ดีส่วนน้อยกับข้าราชการเท่านั้น

ป่าพรุไร้น้ำ ความผิดพลาดการจัดการน้ำหรือภัยแล้ง

ป่าพรุควนเคร็ง อยู่ในพื้นที๋โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 166,000 ไร่ นอกจากประกอบด้วยพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 4 แห่งแล้ว ยังมีเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 2 แห่งอยู่ในพื้นที่ คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย และพื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ

ความแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงในปีนี้ ทำให้ป่าพรุควนเคร็งไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงเหมือนเช่นปกติ ไม่มีแม้แต่น้ำสำหรับดับไฟ เครื่องสูบน้ำและท่อยาวหลายกิโลเมตร คือ หัวใจสำหรับภารกิจดับไฟป่าพรุควนเคร็งในช่วงที่ผ่านมา

การดับไฟป่าพรุบริเวณป่าอนุรักษ์ซึ่งเป็นพื้นที่ด้านใน เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดับไฟป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต้องสูบน้ำจากคลองขุดขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบป่าพรุเข้ามาพักไว้ที่บ่อขุดที่อยู่ใกล้ที่สุด จากนั้นจึงต่อสายฉีดน้ำเข้าไปยังพื้นที่ดับไฟ

 

นายจงคล้าย วงพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชทราบถึงปัญหานี้แล้ว และ ได้พูดคุยกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำแล้งในป่าพรุเพื่อหาทางออกในปีถัดไป

ต้องบริหารจัดการเพื่อให้มีน้ำเลี้ยงป่าพรุในฤดูแล้ง ซึ่งจะมีวิธีการออกมาจากกรมชลประทาน สำหรับพื้นที่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติฯ เช่นป่าพรุด้านในหากได้รับน้ำที่สูบเข้ามาจากกรมชลประทานแล้ว สามารถกักเก็บน้ำไว้โดยไม่กระทบกับพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ติดกัน นี่เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้เกิดไฟป่าน้อยลง เพราะไฟที่เกิดขึ้นบนผิวดินเราเข้าไปดับได้ไม่ยาก แต่พอไฟลงใต้ดินต้องพึ่งน้ำอย่างเดียว

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.ระบุว่า ป่าพรุควนเคร็งมีปัญหาการจัดการน้ำไม่เหมาะสม สาเหตุเกิดจากการขุดลอกคูคลองใช้น้ำเพื่อการเกษตร โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ป่าพรุน้อยกว่าพื้นที่เกษตรกรรม

 

สผ.ยังพบว่า ลำน้ำหลายสายในป่าพรุมีปัญหาตื้นเขิน บางลำน้ำแก้ปัญหานี้ด้วยการขุดลอกคันดินให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรมพ่วงกันด้วย ขณะเดียวกัน คลองบางสายเป็นการขุดลอก หรือ สร้างขึ้นใหม่ผ่านพื้นที่ป่าพรุด้วยจุดประสงค์ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ใกล้เคียง ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้น้ำในป่าพรุแห้งลง เมื่อฤดูแล้งมาถึงเอื้อต่อการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรมมากขึ้น

 

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง