รื้อลดหย่อนภาษีคนรวย-เล็งออมระยะยาวใหม่ ดีกว่า SEF

เศรษฐกิจ
4 ก.ย. 62
17:35
873
Logo Thai PBS
รื้อลดหย่อนภาษีคนรวย-เล็งออมระยะยาวใหม่ ดีกว่า SEF
กรมสรรพากร จับมือ DEPA จัดการแข่งขัน “HackaTax” ครั้งแรกในไทย หวังได้เทคโนโลยีตอบโจทย์ “คนกลัวสรรพากร” พร้อมเร่งศึกษารูปแบบการออมระยะยาวแบบใหม่ รองรับสังคมสูงวัย โดยไม่เอื้อหุ้นใหญ่ ชี้อาจดีกว่ากองทุน SEF ที่เอกชนเสนอ พร้อมรื้อรายการลดหย่อนภาษีใหม่

วันนี้ (4 ก.ย.2562) นายเอกนิติ นิติภัรฑ์ประภาส อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กำหนดระยะเวลา ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม จากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 7 ตามพระราชกฤษฎีกา ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 669) พ.ศ.2561 กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนี้ ดังนั้นกรมสรรพากร เตรียมเข้าหารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขยายเวลาลดภาษีอัตราร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปี เนื่องจาก สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ ยังไม่พร้อมกลับไปใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราเดิม คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี สัปดาห์หน้า

ส่วนความคืบหน้าศึกษากองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ แทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ แอลทีเอฟ แบบเดิมนั้น  อธิบดีกรมสรรพากร ยอมรับว่า กองทุนหุ้นยั่งยืน (Sustainable Equity Fund) หรือ เอสอีเอฟ ที่สภาธุรกิจตลาดทุนเสนอพิจารณานั้น ถือเป็นกองทุนที่น่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ มากกว่า กองทุนแอลทีเอฟแบบเดิม

แต่กรมสรรพากร กำลังศึกษารูปแบบการออมใหม่ ที่เป็นการออมเงินระยะยาว เพียงพอต่อการตอบโจทย์การรองรับสังคมสูงวัย / ลดความเหลื่อมล้ำรายได้ ไม่เอื้อหลักทรัพย์รายใดรายหนึ่ง เพราะตลาดทุนในปัจจุบัน ขยายตัวได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งมาตรการสนับสนุนภาษี เหมือนอดีต

กรมสรรพากร กำลังพิจารณา ทางออกของเรื่องนี้ โดยศึกษารูปแบบการออมใหม่ แต่นำแนวคิดกองทุนหุ้นยั่งยืนมาประยุกต์ เพื่อการออมระยะยาว ตอบโจทย์รองรับสังคมสูงอายุมากกว่ากองทุนแอลทีเอฟ และที่สำคัญ ไม่เอื้อธุรกิจใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์เหมือนรูปแบบปัจจุบัน

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวอีกว่า กรมฯ กำลังศึกษาทบทวนรายการลดหย่อนภาษีทั้งระบบ หลังพบว่า รายการลดหย่อนภาษีจำนวนมาก และอาจซ้ำซ้อน ซ้ำอาจช่วยผู้มีรายได้สูงมากเกินไป ถือเป็นเพิ่มความเหลื่อมล้ำ และกระทบต่อการขยายฐานการจัดเก็บรายได้ คาดว่าจะได้ความชัดเจนในปีนี้


นอกจากนี้ กรมสรรพากร ยังร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิติทัล หรือ ดีป้า จัดการแข่งขัน Hackathon ภาษีครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายนนี้ เพื่อเปิดให้สตาร์ทอัพ ระดับอาวุโส ของประเทศ 12 รายใหญ่ แข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยี ที่ช่วยแก้ไขจุดอ่อนของการดึงผู้ประกอบการเข้าระบบภาษี โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ ที่มักพบปัญหาหลบเลี่ยงภาษี เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจร้านวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น รวมทั้ง ออกแบบนวตกรรมด้านการอำนวยความสะดวกผู้เสียภาษี ทั้งบุคคลธรรมดา พร้อมกับเชิญที่ปรึกษากระทรวงการคลัง / ผู้เชี่ยวชาญภาษีสรรพากร ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว เข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสินใจการแข่งขัน เพื่อพิสูจน์ว่า โครงการนวตกรรมภาษีที่จะออกมา จะสามารถตอบโจทย์ปัญหาได้อย่างแท้จริง โดยไม่มีข้อจำกัดของวัย เพราะตัวแทนข้าราชการ และอดีตข้าราชการที่เข้าร่วมเป็นกรรมการ มีประสบการณ์จัดเก็บรายได้หลักแสนล้านบาททุกคน

ทั้งนี้ หากโครงการนวตกรรมภาษี ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาการจัดเก็บรายได้ และอำนวยความสะดวกได้ จะนำเข้าทดสอบในระบบปฏิบัติการเสมือนจริง จากข้อมูลผู้เสียภาษีจริง หรือ แซนด์บ็อกซ์ เพื่อผลักดันนำออกมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมย้ำว่า การดำเนินโครงการนี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพิ่มการจัดเก็บรายได้ทันที แต่คาดหวังว่า หากกรมฯ สามารถพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ปัญหาได้ จะช่วยขยายฐานภาษี และการจัดเก็บรายได้ในอนาคต และยังคงเป้าหมายยอดจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรปีนี้ ที่ 2 ล้านล้านบาท.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง