สหภาพฯ เรียกร้องแก้ปัญหาค่าโง่ทางด่วน-โฮปเวลล์

เศรษฐกิจ
12 ก.ย. 62
17:35
380
Logo Thai PBS
สหภาพฯ เรียกร้องแก้ปัญหาค่าโง่ทางด่วน-โฮปเวลล์
สหภาพฯ รถไฟ-กทพ. ยื่นหนังสือต่อ รมว.คมนาคมให้เร่งแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องข้อพิพาท ค่าโง่ทางด่วนและโฮปเวลล์ด่วน มั่นใจมีทางชนะคดีได้

วันนี้ (12 ก.ย.2562) สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย(สรส.) โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสรส. และประธานสหภาพการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) นำสมาชิกสหภาพการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสมาชิกสหภาพมายื่นหนังสือต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม โดยมีนางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการ รมว.คมนาคม และนายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ โฆษกประจำรมว.คมนาคม เป็นผู้รับหนังสือแทน


นายสาวิทย์ กล่าวว่า ต้องการให้กระทรวงคมนาคม เร่งพิจารณาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม และ บริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือจำกัด (เอ็นอีซี) โดยเรื่องเร่งด่วนคือ ขอให้สั่งการให้กทพ. ไปฟังคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่จะมีการพิจารณาคดีการเปลี่ยนแปลงงานก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 ในวันที่ 19 ก.ย.นี้

ซึ่งล่าสุดมีข่าวว่า รักษาการผู้ว่ากทพ.ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดขอเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไป เป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยหากคำพิพากษาชี้ว่ากทพ.ชนะคดีก็จะได้ทราบว่าสมมุติฐานที่บอกว่ากทพ.จะแพ้บีอีเอ็มในทุกคดีนั้นผิด และจะได้นำไปสู่การพิจารณาแนวทางการให้สัมปทานใหม่ แต่หากแพ้คดีก็จะเป็นการสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาที่ดำเนินการอยู่


นอกจากนี้ ยังขอให้พิจารณาเรื่องตำแหน่งผู้ว่าการกทพ. กรณีที่มีคำสั่งให้นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักนายรัฐมนตรี ตามคำสั่ง ม.44 โดยรับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์จากกทพ.

ขณะเดียวกันยังแต่งตั้งให้สุทธิศักดิ์ วรรณวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน รักษาการแทน แต่นายสุทธิศักดิ์ กำลังจะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.นี้ โดยขอให้มีความชัดเจนว่าจะมีคำสั่งให้นายสุชาติ กลับมาปฏิบัติหน้าที่ให้ครบวาระหรือไม่ หรือจะให้มีการสรรหาผู้ว่าการกทพ.คนใหม่ เพราะส่งผลกระทบต่องานบริหารองค์กร

ขณะที่ก่อนหน้านี้ กทพ. ได้ว่าจ้างศูนย์วิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา แต่ปัจจุบันคณะกรรมการตรวจรับพัสดุยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งการนำข้อมูลที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ มาใช้ในการพิจารณาลงมติขยายระยะเวลาของสัมปทาน อาจส่งผลต่อระยะเวลาในการขยายสัมปทานออกไป และอาจทำให้เกิดผลเสียหาย รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของกทพ. เพราะหากต้องบันทึกบัญชีเป็นหนี้สิน จะส่งผลให้การทางเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการขาดทุนทันที และจะส่งผลต่อการนำเงินส่งกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาจราจรโดยการสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 ควรเปิดประมูลใหม่เพื่อให้เกิดการแข่งขันและเกิดความเป็นธรรมกับเอกชนรายอื่นเพราะการแข่งขันจะทำให้รัฐได้ประโยชน์สูงที่สุดจากราคาที่ต่ำไม่เกิดการผูกขาดกับเอกชนเพียงรายเดียว

 

สำหรับกรณีข้อพิพาทโฮปเวลล์ กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานครนั้น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาแล้ว แต่ขอให้กระทรวงคมนาคม หยิบยกประเด็นที่จะต่อสู้คดีใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการก่อสร้างที่ไม่สามารดำเนินการได้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งทำให้รัฐและเอกชนเสียโอกาส

 

และเรื่องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ทางรถไฟยกระดับ และอสังหาริมทรัพย์สองข้างทาง ที่เมื่อเกิดข้อพิพาท ทำให้การรถไฟฯ ไม่สามารถเข้าไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และที่ดินสองข้างทางได้ จึงควรคำนวณมูลค่าความเสียหายจากการสูญเสียโอกาสว่าเป็นมูลค่าเท่าใด เพื่อยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการต่อสู้คดีเพื่อเป็นเหตุผลให้ศาลพิจารณาใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง