"อนุทิน" นั่งหัวโต๊ะหาข้อสรุปโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก พรุ่งนี้

เศรษฐกิจ
7 ต.ค. 62
19:01
677
Logo Thai PBS
"อนุทิน" นั่งหัวโต๊ะหาข้อสรุปโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก พรุ่งนี้
“อนุทิน” นัดหารือรูปแบบการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก พรุ่งนี้ (8 ต.ค.2562) ก่อนเสนอ ครม. พร้อมยืนยันหากรัฐลงทุนก่อสร้างโยธา จะช่วยลดมูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

วันนี้ (7 ต.ค.2562) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน 1.28 แสนล้านบาทว่า วันพรุ่งนี้ (8 ต.ค.2562) เวลา 09.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) มาประชุม เพื่อหาข้อสรุปว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด

หลังจากกระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า หากรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของงานโยธาเอง จะทำให้มีมูลค่าของโครงการที่ถูกลงไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้าน ยืนยันว่า หากรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของงานโยธาเองนั้นจะไม่ทำให้โครงการล่าช้า เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาไว้แล้ว

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ สนข. และ ขร.ไปพิจารณาความแตกต่างระหว่างระบบรถไฟรางหนัก (Heavy Rail) กับรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) พร้อมทั้งพิจารณาข้อกังวล ทั้งในส่วนเรื่องของค่าโดยสารของประชาชน และเพดานหนี้สาธารณะด้วย
และพิจารณาเรื่องจำนวนผู้โดยสารที่ระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี เมื่อรวมกับฝั่งตะวันตก จะมีจำนวนผู้โดยสารวันละ 440,000 คนนั้น มองว่าตัวเลขผู้โดยสารยังน้อยไป เนื่องจากเส้นทางดังกล่าว ผ่านใจกลางเมือง จึงสั่งการให้ รฟม.ไปอัพเดทข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน

ก็ต้องมาพิจารณาว่าแบบใดถูกกว่าและดีกว่า ก็จะเสนอข้อเท็จจริง และข้อเปรียบเทียบเสนอให้ ครม.พิจารณา ซึ่งขณะนี้มี 2 รูปแบบ คือ แยกการก่อสร้างออกจากการเดินรถ แต่ปัจจุบันรวมเป็นเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ทั้งหมด 100% ซึ่งกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นว่า หากแยกก่อสร้างออกมาจะถูกกว่า ซึ่งความเห็นนี้มีเป็นตัวหนังสืออยู่ในรายงานการประชุม

สำหรับกรอบในการพิจารณาโครงการนั้น จะต้องเรียงลำดับความสำคัญ เพื่อตอบโจทย์ 3 กลุ่มหลักที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) คือ ประชาชน ซึ่งจะต้องได้ประโยชน์สูงสุด และรับภาระน้อยที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของอัตราค่าโดยสาร ลำดับต่อมาคือ รัฐ จะต้องมีการลงทุนน้อย และลำดับที่ 3 เอกชนที่มาลงทุนจากรัฐจะต้องได้รับผลตอบแทน

แต่หากการพิจารณาดังกล่าว ได้ข้อสรุปออกมาว่า รัฐจะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของงานโยธาเอง ก็จะถอนเรื่องกลับมาเพื่อพิจารณาอีกครั้ง จากนั้นจะส่งเรื่องกลับไปยังคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟม.) ก่อนที่จะเสนอให้ ครม.ฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณา เพื่อส่งไปยัง ครม.ชุดใหญ่ และเข้าสู่กระบวนการ PPP เฉพาะการเดินรถต่อไป ขณะเดียวกัน ถ้าพิจารณาแล้วว่า จะดำเนินการรูปแบบเดิมตามมติ ครม.ชุดก่อนเหมาะสมกว่านั้น ก็สามารถเสนอไปยัง ครม.ชุดใหญ่ได้ทันที อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสรุปรูปแบบการดำเนินการและเสนอ ครม. ได้ภายใน ต.ค.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง