โฆษกศาลฯ เผยอธิบดีผู้พิพากษาภาค มีอำนาจตรวจร่างคำพิพากษา

อาชญากรรม
8 ต.ค. 62
18:34
749
Logo Thai PBS
โฆษกศาลฯ เผยอธิบดีผู้พิพากษาภาค มีอำนาจตรวจร่างคำพิพากษา
โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยระเบียบตรวจร่างคำพิพากษา คดีประเภทไหน เข้าเกณฑ์ ต้องส่งตรวจร่างฯ ย้ำมีหลักเกณฑ์เป็นคู่มือบังคับให้เป็นมาตรฐาน ไม่ใช่แทรกแซง ยันองค์คณะมีอิสระหากยืนยันคำวินิจฉัยเดิม อธ.ศาลฯทำได้แค่บันทึกเห็นแย้งติดสำนวน"

วันนี้ (8 ต.ค.2562) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้อธิบายถึงขั้นตอนการออกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และการตรวจร่างคำพิพากษาของอธิบดีผู้พิพากษาภาคว่า เรื่องการตรวจร่างคำพิพากษาของภาค ไม่ใช่การแทรกแซง อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจในการตรวจร่างคำพิพากษาและทำความเห็นแย้งได้ตามกฎหมาย

สำหรับวิธีการตรวจร่างฯ นั้น เดิมประธานศาลฎีกาเคยออกคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติงานคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งต่อมามีการออกระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยมาตรฐานการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ. 2560 และล่าสุดก็มีการแก้ไขออกเป็น “ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2562” ซึ่งประธานศาลฎีกาลงนามไว้เมื่อวันที่ 22 ม.ค.62 จึงเห็นได้ว่า เรื่องการตรวจร่างฯ นี้เป็นวิธีการควบคุมคุณภาพคำพิพากษาที่มีระเบียบปฏิบัติรองรับชัดเจน

โดยระเบียบฯ ดังกล่าว มีข้อสรุปที่น่าสนใจ อาทิ กำหนดให้ “อธิบดีผู้พิพากษาภาค” มีอำนาจตรวจสำนวนคดีสำคัญ ได้แก่ คดีเกี่ยวกับความมั่นคง , ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย , คดีทุกประเภทที่อัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี หรือโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต , คดียาเสพติดที่มีการครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายในจำนวนที่มีปริมาณมาก หรือผลิตและนำเข้ายาเสพติด ส่วนคดีแพ่งจะเป็นคดีที่มีราคาทุนทรัพย์พิพาทตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป กรณีที่สถาบันการเงินเป็นโจทก์ต้องมีทุนทรัพย์พิพาท 10 ล้านบาทขึ้นไป , คดีละเมิดอำนาจศาล , คดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ

ในส่วนสุดท้าย จะเป็นคดีที่มีความสำคัญเกี่ยวด้วยตัวบุคคล หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น คดีที่มีคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือผู้เสียหายเป็นนายกรัฐมนตรี , รัฐมนตรี , ส.ส. , ส.ว. , นักการเมือง , ผู้พิพากษา , อัยการ และองค์กรอิสระต่างๆ รวมถึงข้าราชการพลเรือนระดับอธิบดีขึ้นไป หรือหน่วยงานรัฐวิสากิจ ที่เป็นระดับผู้อำนวยการ , ผู้ว่าการ , นายทหารหรือตำรวจที่มียศนายพลขึ้นไป หรือเป็นคดีที่มีพฤติการณ์แห่งการกระทำเป็นที่น่าสนใจของประชาชน และคดีที่อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือรูปแบบเป็นลักษณะองค์กรอาชญากรรม , คดีที่เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ , คดีที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ , คดีที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 , ความผิดตาม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 , คดีเกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

นายสุริยัณห์ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงการตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งตามระเบียบฯ อีกว่า การส่งร่างคำพิพากษาควรให้มีระยะเวลาการตรวจไม่น้อยกว่า 15 วันทำการ โดยพิจารณาตามเหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณคดีเพื่อไม่ให้กระทบต่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขณะที่อธิบดีผู้พิพากษาภาคอาจจ่ายสำนวนและร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาคช่วยตรวจได้ หรือยังสามารถจ่ายสำนวนมาให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักงานอธิบดีฯ หรือผู้พิพากษาอาวุโสช่วยตรวจ โดยเมื่อตรวจแล้วให้เสนออธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือรองอธิบดีฯ ผู้ได้รับมอบหมายพิจารณาให้ความเห็น

ทั้งนี้การตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่ง นอกจากจะตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในคู่มือปฏิบัติราชการของตุลาการ เช่น รูปแบบคำพิพากษา การใช้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายแล้ว ยังต้องรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และให้การใช้ดุลพินิจของศาลเป็นไปโดยถูกต้องในแนวทางเดียวกัน ในกรณีที่ต่างไปจากแนวบรรทัดฐานควรมีเหตุผลพิเศษและให้แสดงเหตุผลพิเศษไว้ในร่างคำพิพากษาเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวตอนท้ายด้วยว่า ขั้นตอนการตรวจร่างตามระเบียบฯ เป็นกรณีที่กำหนดให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการ (ผู้พิพากษา) ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง และเพื่อให้กิจการของศาลยุติธรรมดำเนินไปโดยเรียบร้อย เป็นระเบียบเดียวกันโดยมีมาตรฐานที่ชัดเจนและเหมาะสม

การตรวจร่างคำพิพากษาจึงเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย ที่มีเจตนารมณ์ให้ผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์มากกว่าได้ช่วยเหลือองค์คณะผู้พิพากษาตรวจทานกลั่นกรองคำพิพากษาเพื่อให้คำพิพากษาของศาลยุติธรรมเป็นหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็ประกันความเป็นอิสระแก่องค์คณะผู้พิพากษาด้วย โดยหากองค์คณะยืนยันตามความเห็นเดิมอธิบดีผู้พิพากษาภาคก็จะบังคับให้เปลี่ยนแปลงผลไม่ได้ ซึ่งมีสิทธิแค่ทำบันทึกความเห็นแย้งติดสำนวนไว้เพื่อให้เกิดสิทธิในการอุทธรณ์-ฎีกาต่อไปเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง