เตือน "แมลง-ยุง" กัด อาจเสี่ยงป่วยโรคเนื้อเน่า

สังคม
4 พ.ย. 62
11:05
7,327
Logo Thai PBS
เตือน "แมลง-ยุง" กัด อาจเสี่ยงป่วยโรคเนื้อเน่า
กรมควบคุมโรค เตือนถูกแมลงและยุงกัดหรือมีบาดแผลเพียงเล็กน้อย ขอให้ดูแลแผลให้สะอาด เพราะอาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคเนื้อเน่าได้ หากแผลเกิดการอักเสบ เช่น บริเวณบาดแผลมีลักษณะปวด บวม ร้อน แดงมากขึ้น หรือมีไข้ แล้วลุกลาม ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

วันนี้ (4 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี "บอย" ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ พระเอกหนุ่ม ถูกแมลงกัดขณะไปแช่ออนเซ็นที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วเกิดอาการคัน แต่ภายหลังการเกิดเหตุไม่นาน กลับเกิดแผลอักเสบและลามถึง 2 ฝ่ามือ จนแพทย์ต้องขอผ่าตัดด่วน ล่าสุด ผ่าตัดเรียบร้อยและอาการปลอดภัยแล้วนั้น

นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวดาราชื่อดังถูกแมลงกัดขณะไปเที่ยวบ่อน้ำร้อนในต่างประเทศ ต้องเข้ารักษาตัวด่วนนั้น ขอให้ข้อมูลว่าโรคเนื้อเน่า หรือเรียกว่า เนคโครไทซิ่ง แฟสเชียไอติส เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในแผล ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย 2 ชนิด คือ Streptococcus pyogenes และ Staphylococcus aureus โดยมีการติดเชื้อบริเวณผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง โรคนี้พบบ่อยในช่วงฤดูฝน มักพบในผู้ที่มีบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ หรือแผลจากการถูกแมลงหรือยุงกัด แล้วสัมผัสกับแบคทีเรียที่อยู่ในดินหรือในน้ำ และอาจดูแลแผลไม่ดี จนแผลลาม ทำให้แผลติดเชื้อซ้ำซ้อน

พบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าในไทยปีละประมาณ 100-200 คน

สำหรับประเทศไทย แต่ละปีจะพบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าประมาณ 100-200 คน พบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ตำแหน่งที่เกิดมากสุดคือที่บริเวณขา รองลงมาเป็นบริเวณเท้า เมื่อเชื้อโรคที่พบในดินในน้ำทั่วๆ ไปเข้าไปในแผล จะทำให้เกิดการอักเสบ ลุกลามได้ง่าย รายที่รุนแรงอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะไตวาย ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ ที่สำคัญหากมาพบแพทย์ช้า เมื่อมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกแล้ว จะทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงด้วย

นพ.อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า ประชาชนที่มีความเสี่ยงเกิดโรคเนื้อเน่า ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ไตวาย มะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์ หรือยาชุด ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ เป็นต้น

สำหรับการป้องกันโรค ขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลขึ้น โดยเฉพาะบริเวณขาหรือเท้า แต่หากมีบาดแผลขอให้หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ และทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ และใส่ยาฆ่าเชื้อ ระวังอย่าให้มีสิ่งสกปรกเข้าไปในบาดแผล โดยเฉพาะบาดแผลที่เกิดจากวัสดุที่สกปรก เช่น ตะปู หนาม ไม้ที่อยู่ในน้ำ ทิ่มแทง ควรไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน ทั้งนี้ ถ้าปวดบริเวณแผล บวม ร้อน แดงมากขึ้น หรือมีไข้ร่วมด้วย อาจเกิดการติดเชื้อได้ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาได้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ข่าวที่เกี่ยวข้อง