ปิดฉากประชุมอาเซียนครั้งที่ 35 "เวียดนาม" รับไม้ต่อเจ้าภาพปี 63

ต่างประเทศ
5 พ.ย. 62
07:12
34,887
Logo Thai PBS
ปิดฉากประชุมอาเซียนครั้งที่ 35 "เวียดนาม" รับไม้ต่อเจ้าภาพปี 63
การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องได้ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ ประเด็นหนึ่งที่ทั่วโลกจับตามองคือความก้าวหน้าของข้อตกลงทางการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อย่างความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำพิธีมอบค้อนให้เหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ซึ่งเวียดนามจะรับหน้าที่ประธานและเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2563

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุมทั้งหมดประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงบทบาทและการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อริเริ่มเรื่องเมืองอัจฉริยะของจีน การเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียน ญี่ปุ่น จีน และประเทศอาเซียน + 3 ภายใต้แนวทางยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงของอาเซียนที่ไทยริเริ่ม บนพื้นฐาน 3 M คือความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน เคารพซึ่งกันและกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

อินเดียขอทบทวนความตกลง RCEP

ส่วนความคืบหน้าของการผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ระบุว่า อินเดียได้ตัดสินใจที่จะไม่ลงนามในความตกลง RCEP เพราะยังมีความเห็นต่างเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีศุลกากร, การขาดดุลการค้าของอินเดีย และการตั้งกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งขณะนี้รูปแบบของความตกลง RCEP ไม่ได้สะท้อนถึงสาระสำคัญตามที่เคยหารือกันไว้ก่อนหน้านี้ โดยอินเดียยังมีเงื่อนไขบางประการที่ประเทศคู่เจรจาต่างๆ จะร่วมกันแก้ไขเพื่อเดินหน้าความตกลงนี้ให้ได้ต่อไป

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

 

ท่าทีดังกล่าวสอดคล้องกับ เล่อ อวี้เฉิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ที่เปิดเผยว่า ประเทศคู่เจรจา RCEP จำนวน 15 ประเทศ ตัดสินใจเดินหน้าข้อตกลงไปก่อน โดยกำหนดจะลงนามความตกลงในปี 2563 ซึ่งทุกประเทศเห็นพ้องกันที่จะเปิดกว้างให้อินเดียสามารถเข้าร่วมได้ทุกเมื่อ เมื่อมีความพร้อมเต็มที่

ขณะที่โรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ โดยระบุว่า ประเทศขนาดใหญ่ไม่ควรรังแกประเทศขนาดเล็ก และทรัพยากรต่างๆ ในทะเลจีนใต้ล้วนเป็นของแต่ละประเทศที่เป็นเจ้าของน่านน้ำ ซึ่งควรจะสืบทอดไปยังลูกหลาน และตนไม่มองว่าสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ เพราะทะเลจีนใต้เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิกที่สหรัฐอเมริกามีส่วนถือครองน่านน้ำเช่นกัน

ส่วนเรื่องการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ที่ผู้นำอาเซียน 7 ประเทศส่งผู้แทนระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม โอไบรอัน ระบุว่าไม่ติดใจอะไรทั้งสิ้นและไม่ได้แสดงความไม่พอใจใดๆ พร้อมทั้งเข้าใจดีว่าบรรดาผู้นำต่างมีภารกิจสำคัญมากมาย และยังย้ำถึงคำเชิญของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ต้องการให้ผู้นำชาติอาเซียนเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา นัดพิเศษ ที่สหรัฐอเมริกาในช่วงต้นปี 2563

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"อาเซียน-จีน" เดินหน้าหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ปี 2030

ผู้นำไทยชูสานสัมพันธ์นอกภูมิภาครับความท้าทายโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง