วันนี้ (6 พ.ย.2562) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 ต่อปี จากระดับ ร้อยละ 1.50 เหลือร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยมีผลทันที ซึ่งถือเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุด ใกล้เคียงกับช่วงเกิดวิกฤตการเงินแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. กล่าวว่า คณะกรรมการฯ เสียงส่วนใหญ่ เห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลงส่งผลต่อการจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย
ขณะที่กรรมการ กนง. 2 คน เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายผ่อนคลายอยู่แล้วและการลดดอกเบี้ย อาจไม่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งควรสำรองขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน หรือพอลิซี่ สเปซ รองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ กนง.แสดงความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาท แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง อาจกระทบารขยายตัวทางเศรษฐกิจ จึงสนับสนุนให้ผ่อนคลาย กฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างความสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย

ด้าน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แบงก์ชาติออกมาตรการเอื้อเงินทุนไหลออก เพื่อลดแรงกดดันค่าเงิน 4 มาตรการ ได้แก่ ยกเว้นการนำรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ จากเดิมกำหนดวงเงิน รายได้ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มวงเงินเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 ใบขน คิดเป็นร้อยละ 80 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด และยังนำไปหักกลบรายจ่ายในต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องขึ้นทะเบียนกับแบงก์ชาติและยื่นหลักฐานกับธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนผ่อนคลายเงื่อนไข การเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ หรือเอฟซีดี กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศง่ายขึ้น
นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังเปิดเสรีให้นักลงทุนไทยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองวงเงิน 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมต้องลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศที่มีสินทรัพย์ตามเงื่อนไขกำหนด พร้อมกับขยายวงเงินลงทุนจากเดิม 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนต่างประเทศ
ธนาคารแห่งประเทศไทยยังเปิดเสรีการโอนเงิน ออกต่างประเทศจากเดิมต้องขออนุญาตและระบุวัตถุประสงค์เป็นไปตามกำหนดหรือไม่ เป็นกำหนดวัตถุประสงค์ห้ามแทน พร้อมเปิดให้โอนเงินไปต่างประเทศเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ในชื่อบุคครอบครัว ไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมกำหนดต้องเป็นชื่อผู้โอนเงินเท่านั้น เช่นเดียวกับประชาชนและภาคธุรกิจ ที่ต้องการโอนเงินออกนอกประเทศ จากเดิม 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ เป็น ไม่เกิน 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่ต้องยื่นเอกสาร
นอกจากนี้ปัญหาการซื้อขายทองคำ ซึ่งสร้างแรงกดดันค่าเงินบาทในช่วงราคาผันผวน ทำให้แบงก์ชาติอนุญาตให้คนไทยลงทุนทองคำในรูปเงินตราต่างประเทศ ผ่านบัญชีเอฟซีดีที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศ โดยไม่ต้องแลกเป็นเงินบาทและกำลังหารือผู้เกี่ยวข้อง อนุญาตซื้อขายสัญญาราคาทองคำล่วงหน้า หรือโกด์ล ฟิวเจอร์ส ในรูปเงินตราต่างประเทศ ในระยะต่อไป ทั้งนี้มาตรการนีั้จะมีผลบังคับ ใช้วันที่ 8 พ.ย.นีั้
แท็กที่เกี่ยวข้อง: