เคยคิดไหม ถ้านักบินหมดสติพร้อมกันกลางอากาศ เราจะทำยังไง?

Logo Thai PBS
เคยคิดไหม ถ้านักบินหมดสติพร้อมกันกลางอากาศ เราจะทำยังไง?
เคยจินตนาการไหมว่า หากวันหนึ่งคุณกำลังนั่งเครื่องบินอยู่ แล้วนักบินเกิดหมดสติพร้อมกัน 2 คน คุณจะนำเครื่องบินลงจอดเองได้หรือไม่?

จากนี้การบินอาจปลอดภัยมากขึ้น เมื่อมีบริษัทผู้ผลิตระบบภายในเครื่องบิน ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบลงจอดฉุกเฉินอัตโนมัติด้วยปุ่มเพียงปุ่มเดียว ที่แม้คุณจะไม่เคยมีความรู้ด้านการบินมาก่อน ก็สามารถนำเครื่องบินลงจอดเองได้

บริษัท Garmin ซึ่งเป็นบริษัทผลิตระบบควบคุมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติอเมริกัน ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบที่ชื่อว่า “Garmin Autoland System” ระบบนี้จะช่วยให้เครื่องบินที่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน เช่น นักบินหมดสติพร้อมกัน และผู้โดยสารบนเครื่องไม่มีความรู้ด้านการบิน สามารถนำเครื่องบินลงจอดเองได้

ระบบ Autoland ทำงานอย่างไร?

การใช้งานระบบนี้ผู้ควบคุมเครื่องบินแทบไม่ต้องทำอะไร เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้โดยสารเพียงกดสวิตช์ที่อยู่บริเวณแผงควบคุมภายในห้องนักบินค้างไว้ประมาณ 3 วินาที เพื่อยืนยันคำสั่ง จากนั้นระบบจะเริ่มประมวลสภาพอากาศโดยรอบ คำนวนปริมาณเชื้อเพลิงและเริ่มค้นหาสนามบินใกล้เคียง โดยจะต้องเป็นสนามบินที่ใหญ่เพียงพอจะรองรับเครื่องบินได้และมีอุปกรณ์ภาคพื้นที่พร้อม

เมื่อคำนวนเรียบร้อยแล้ว ระบบจะแจ้งรหัสฉุกเฉินไปยังหอควบคุมการบินปลายทาง เพื่อให้จัดการจราจรทางอากาศให้เหมาะสมและเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น รถดับเพลิง ทีมแพทย์ที่จะเข้าปฐมพยาบาล จากนั้นเครื่องบินจะเริ่มบินไปตามเส้นทางที่คำนวนไว้ ลดระดับและลงจอดที่สนามบินปลายทาง

จะรู้ได้อย่างไรว่าระบบทำงานถูกต้อง แม่นยำ?

คงไม่ง่ายนัก หากเราจะมองหน้าจอและปุ่มนับร้อยที่อยู่ตรงหน้า แล้วจะรู้ว่าระบบ Autoland กำลังนำเราไปลงจอดยังปลายทางอย่างปลอดภัย และเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสาร ผู้ผลิตจึงได้ใส่เสียงบรรยายจากระบบคอมพิวเตอร์ที่คอยบอกให้ผู้โดยสารรู้ว่า เครื่องบินกำลังทำอะไรอยู่ เช่น กำลังค้นหาสนามบิน กำลังลดระดับ กำลังคำนวนน้ำมัน หรือกำลังจะเดินทางไปลงจอดที่ไหนและยังให้คำแนะนำต่างๆ แก่ผู้โดยสาร เช่น ให้รัดสายเข็มขัด ห้ามแตะต้องแผงควบคุมหรือคันเร่ง เป็นต้น เพื่อลดความตื่นตระหนกของผู้โดยสาร

วิดีโอนี้ ทำให้เห็นภาพการทำงานของระบบนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


ขอบคุณคลิปยูทูปจาก Garmin Aviation

ระบบนี้จะถูกนำไปใช้ทันทีเลยไหม?

ผู้ผลิตตั้งเป้าว่า ระบบนี้จะถูกนำไปใช้กับเครื่องบินขนาดเล็กและเครื่องบินส่วนบุคคล ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่เครื่องบินพาณิชย์ในอนาคต นั่นหมายความว่า การประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบนี้ในเครื่องบินพาณิชย์ จะช่วยให้การเดินทางทางอากาศมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

บทเรียนจากอดีต..สู่การแก้ไขในปัจจุบัน

ความสำเร็จของระบบนี้ ทำให้นึกย้อนถึงเหตุโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เมื่อปี 2548 เมื่อเครื่องบินของสายการบิน Helios ที่กำลังเดินทางจากเกาะไซปรัส ไปกรีซ แต่จู่ๆ กลับขาดการติดต่อ เนื่องจากนักบินและผู้โดยสารหมดสติจากภาวะขาดออกซิเจน เพราะนักบินลืมสับสวิตช์ปรับความดันในห้องโดยสารเป็นอัตโนมัติ

แม้ว่าจะมีหนึ่งในพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินได้สติขึ้นมาและพยายามไปในห้องนักบิน แต่ก็ไม่มีความรู้เรื่องการบินที่เพียงพอ ประกอบกับเชื้อเพลิงหมด ทำให้เครื่องบินตกสู่พื้นดินและผู้โดยสารเสียชีวิตทั้งลำ จึงเป็นเหตุการณ์ที่ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ผลิตเครื่องบินต้องหันกลับมาทบทวนถึงมาตรการและแนวปฏิบัติของนักบิน รวมไปถึงการนำเครื่องบินลงในกรณีฉุกเฉิน กรณีผู้ควบคุมไม่ใช่นักบินและไม่มีความรู้ด้านการบิน

ข้อจำกัดและความท้าทายในอนาคต

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ อาจดูเหมือนว่าระบบนี้สามารถเข้ามาตอบโจทย์ความปลอดภัยในการนำเครื่องบินลงจอดโดยไม่มีนักบินได้เกือบ 100 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะสำหรับเครื่องบินส่วนบุคคลขนาดเล็ก แต่หากมองในข้อเท็จจริงแล้ว ระบบนี้ก็ยังมีข้อจำกัดในการต่อยอดไปสู่การใช้กับเครื่องบินพาณิชย์ ทั้งเรื่องการรักษาความปลอดภัยของห้องนักบินที่ต้องใช้รหัสผ่าน ระยะเวลากว่าที่ผู้โดยสารหรือพนักงานต้อนรับจะรู้ว่านักบินอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ หรือแม้แต่ว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินใจว่ามีความจำเป็นต้องลงจอดฉุกเฉิน ในเมื่อผู้ถืออำนาจตัดสินใจสูงสุดอย่างกัปตัน อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถตัดสินใจได้แล้ว

นอกจากนี้ ในเชิงเทคนิคผู้ผลิตยังระบุเองว่า ระบบดังกล่าวอาจทำงานไม่เต็มที่หากการทำงานของเครื่องบินไม่สมบูรณ์ เช่น มีเชื้อเพลิงน้อยเกินไป หรือลำตัวเครื่องและระบบอื่นๆ ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นเหตุต่อเนื่องที่ทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมอากาศยานได้ ทั้งหมดนี้นับเป็นความท้าทายที่ผู้ผลิตจะต้องนำไปพัฒนาเพื่อหาทางอุดช่องโหว่เหล่านี้ เพื่อให้เครื่องบินในอนาคตมีความปลอดภัยมากขึ้น

ขอบคุณภาพจาก Garmin.com, cyprus-mail.com

 

เฌอศานต์ ศรีสัจจัง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง